คนรักหมาตายแล้ว อันตราย 4ใน10ตัวมีพิษสุนัขบ้า

คนรักหมาตายแล้ว อันตราย 4ใน10ตัวมีพิษสุนัขบ้า

จากกรณีโลกออนไลน์ พากันแตกตื่นและแชร์ข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า "Thiravat Hemachudha" โพสต์ข้อความระบุ "คนไข้โรคพิษสุนัขบ้า เข้ามารักษาตัวที่รพ.จุฬาฯ หลังถูกสุนัข กทม.กัด ไม่ได้ฉีดยา ใครถูกสุนัข แมวกัด โดยไม่ได้ฉีดยา รีบรับการป้องกันด่วน" ภายหลังผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า คนไข้ใจบุญที่ช่วยให้อาหารสุนัขจรจัดคนดังกล่าว เสียชีวิตแล้ว ที่รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คนไข้โรคพิษสุนัขบ้าที่เข้ามารักษาตัวที่รพ.จุฬาฯ ได้เสียชีวิตแล้ว หลังจากที่ชายรายนี้ ซึ่งเป็นคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ชอบให้อาหารและมีความเมตตาสุนัขจรจัดของในเขต กทม. จนถูกกัดเข้าที่มือขวา หลังจากนั้น 5 สัปดาห์ต่อมา เริ่มปวดที่แขน เหงื่อออกที่แขนด้านนั้นผิดปกติและขนลุก ต่อมามีอาการสลับสับเปลี่ยนของพฤติกรรมแปรเปลี่ยน กลัวน้ำกลัวลม ซึ่งอาจไม่มาพร้อมกัน รูม่านตาหดหรือกว้าง ไม่ตอบสนองต่อแสงเป็นพักๆ การควบคุมความดันโลหิตและชีพจร แปรปรวน ขึ้นๆ ลงๆ โดยอาการเหล่านี้จะเสียชีวิตเร็ว ไม่มีการรักษาใดๆได้ผล
 
"เป็นความผิดของคนที่ไม่เคยรับผิดชอบ การเลี้ยงสัตว์ปล่อยปละละเลย ไม่ทำหมัน ไม่ฉีดวัคซีน ซึ่งหมาและแมว ก็ไม่อยากเจ็บปวด ไม่อยากตายเหมือนคนเช่นกัน สำหรับคนใจบุญ หมอขอร้องให้ช่วยทำอะไรเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย หมาเหล่านี้จะเชื่องกับคนที่ให้อาหารประจำ โดยผู้คุ้นเคยกับหมาจะค่อยๆ ล่อหมาทีละตัวมารวมกักในที่เหมาะสม และค่อยๆ ทำหมันฉีดวัคซีน โดยมีสัตวแพทย์ช่วยพร้อมกันหลายคน และจะทำให้หมาชุมชนเหล่านี้มีจำนวนคงที่และจะไม่แย่งกันหาอาหาร อารมณ์ไม่เสียไปกัดคน อีกทั้งยังไม่ไปกัดกันเอง ซึ่งเป็นการแพร่ไวรัสจากตัวหนึ่งไปสู่ตัวอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวแนะนำ 
 
ผอ.ศูนย์โรคติดเชื้อฯ ยังให้ข้อมูลอีกว่า เมื่อสุนัขได้รับเชื้อแล้ว แต่ละตัวจะไม่มีระยะฟักตัวเท่ากัน เพราะฉะนั้นในทุกฤดูไม่ใช่เฉพาะแต่หน้าร้อนมักจะพบสุนัขบ้าได้เสมอ สำหรับสุนัขบ้านเป็นหน้าที่ที่ต้องทำอยู่แล้ว (ฉีดวัคซีน ทำหมัน) โดยถือเป็นสมาชิกในครอบครัว การที่สุนัขตัวเองออกลูกมา 5 ตัว แล้วนำไปปล่อยวัดเท่ากับทำบาปให้เจ้าอาวาสแน่นอน ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้า มีลักษณะเฉพาะตัวอีกประการ คือ ไวรัสจะสามารถสงบตัวอยู่บริเวณแผลที่ถูกกัดได้เป็นเดือนยาวไปจนถึงเป็นปี โดยไม่แสดงอาการใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อเริ่มแสดงอาการขึ้นแล้ว ผู้ป่วยจะเสียชีวิตหมดภายใน 5-11 วัน แต่อาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึงเดือน ถ้าได้รับการดูแลในห้องไอซียูอย่างเต็มที่.

ที่มา : Thiravat Hemachudha


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์