จุดประเด็น!! อ.จุฬาฯติงแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แก้ปัญหาช้าด้วยเหตุนี้

จุดประเด็น!! อ.จุฬาฯติงแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แก้ปัญหาช้าด้วยเหตุนี้

จุดประเด็น!! อ.จุฬาฯ ติงแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แก้ปัญหาช้า ชี้เตือนแล้วให้ซ่อมบำรุงหนัก

เริ่มมีสื่อมวลชนโทรศัพท์มาสอบถามผมเรื่อง Airport Rail Link (ปกติผมจะเรียกโครงการนี้ย่อๆ ว่า SARL ~ Suvarnabhumi Airport Rail Link) ขอให้ความเห็นไว้ตรงนี้ ตามนี้นะครับ
กรณีข้อบกพร่องของ SARL ในเช้าวันนี้ มีข้อพิจารณาที่ต้องทำความเข้าใจ และคิดต่อไปยาวๆ เพื่ออนาคต 8-9 ประเด็น

1. ภายใต้เงื่อนไขที่กระบวนการบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงของ SARL ที่แตกต่างไปจากโครงการ BTS และ MRT คือ ทาง SARL พยายามจะบริหารกิจกรรมการซ่อมบำรุงด้วยตัวเอง (ไม่ได้ outsource ให้กับเอกชน อย่างที่ BTS และ MRT จ้างบริษัท Siemens เป็นผู้ดำเนินการ) สิ่งที่ SARL ประสบปัญหาและเป็นอุปสรรคหลักจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงคือ ไม่สามารถจัดหาอะไหล่ได้ทันตามเวลา อันเนื่องจากกระบวนการจัดซื้อที่ผูกกับระเบียบของกระทรวงการคลัง และต้องผ่านการพิจารณาจากบอร์ดบริหาร 2 บอร์ด คือ บอร์ดของ SARL เอง (บริษัท รถไฟฟ้า รฟท จำกัด หรือ รฟฟท.) และบอร์ดของ รฟท.

แปลว่า ปัญหาใหญ่สุดของ SARL แท้ที่จริงไม่ใช่แค่เรื่องเหตุสุดวิสัยอย่างที่เกิด แต่เป็นเรื่องวิธีบริหารจัดการ และ business model ที่จะต้องได้รับการแก้ไขผ่านการปฏิรูปองค์กร
ถ้าไม่มีใครทำอะไร อีกไม่นานปัญหาแบบวันนี้ก็จะวนกลับมาอีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

2. กระบวนการซ่อมบำรุงโดยพนักงานของ รฟฟท. ได้ผ่านการเรียนรู้มาแล้วนับตั้งแต่เปิดดำเนินการในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2553 จวบจนถึงปัจจุบัน ก็ให้บริการมาแล้ว 5-6 ปี ในระหว่างนี้ก็ผ่านวิกฤติมาแล้วหลายครั้ง เรียกได้ว่าพนักงานซ๋อมบำรุงของ รฟฟท. ได้ใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์มาพอสมควร และมีขีดความสามารถที่รับมือได้

ทว่าปัญหาอันเกิดจากการขาดแคลนอะไหล่ จนไม่สามารถดำเนินการซ่อมบำรุงได้ตามรอบเวลาที่ควรกระทำ น่าจะเป็นต้นเหตุหลักที่นำไปสู่สารพัดปัญหาที่คล้ายเป็นระเบิดเวลาของ SARL
ความไร้ประสิทธิภาพนี้ กำลังเริ่มสั่นคลอนตัว รฟฟท. เอง เมื่อพนักงานในแผนกงานซ่อมบำรุงส่วนหนึ่งเริ่มย้ายตัวเองไปอยู่บริษัทอื่นๆ ขีดความสามารถในทีมบริหารจัดการงานซ่อมบำรุงก็กำลังจะเริ่มมีปัญหาในไม่ช้า

และเรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่จะผูกรวมไปกับเรื่องการขาดแคลนอะไหล่เพื่อการซ่อมบำรุงอย่างแน่นอน

3. วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2557 ผมและทีมงานวิจัยที่จุฬาฯ ได้เคยออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวในนามจุฬาฯ เรื่องความปลอดภัยของระบบ SARL ซึ่งในขณะนั้นวิ่งใช้งานไปแล้วราวๆ 1.3 ล้านกิโลเมตร (ควรทราบว่า ตามคู่มืองานซ่อมบำรุงระบุว่าระบบ SARL จะต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการซ๋อมบำรุงหนัก หรือ overhaul เมื่อวิ่งใช้งานครบ 1.2 ล้านกิโลเมตร บวกไม่เกิน 10% แล้วแต่สภาพการใช้งาน) นั่นหมายความว่า ในขณะเวลานั้น SARL ถึงวาระต้องซ่อมบำรุงใหญ่แล้ว แต่เท่าที่ผมทราบ จวบจนถึงปัจจุบัน SARL วิ่งมาแล้ว 1.6-1.7 ล้านกิโลเมตร โดยที่ยังไม่ผ่านการซ่อมบำรุงหนัก!
ถามว่า แล้วทำไมไม่ดำเนินการซ่อมบำรุงหนัก?

ตอบได้ว่า ปัญหาเริ่มต้นที่การไม่มีอะไหล่ ตามมาด้วยความพยายามของบอร์ดบริหารตั้งแต่ชุดเก่า (ก่อนการปฏิวัติ) และบอร์ดชุดปัจจุบัน ต่างพยายามจะว่าจ้างบริษัทเอกชนรายอื่น ให้มารับผิดชอบกิจกรรมการซ่อมบำรุง แทนการบริหารจัดการด้วยพนักงานของ รฟฟท เอง ซึ่งในกรณีนี้ โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดนะครับ

(ข้อมูลน่าสนใจ และต้องสนใจเป็นพิเศษ คือ ณ วันนี้ เจ้าของเทคโนโลยีอย่าง Siemens เองก็ไม่กล้ารับงานซ่อมบำรุง SARL ในขณะนี้นะครับ เพราะสภาพรถ "บอบช้ำ" เกินกว่าบริษัทจะเสี่ยงรับผิดชอบไหว ยกเว้นว่าเงินหนาพอๆ กับซื้อขบวนรถไฟฟ้าใหม่กันเลยทีเดียว)

ล่าสุด ทราบว่าปัจจุบัน รฟฟท. กำลังอยู่ในระหว่างร่างสัญญาเพื่อว่าจ้างเอกชนรายหนึ่งมารับงาน ซึ่งผมไม่ทราบว่าจะสามารถเริ่มงานได้เมื่อไหร่

สรุปเลยนะครับ สถานะ SARL ตอนนี้ พูดหยาบๆ แบบไม่เกรงใจใคร คือ วิกฤติ และไม่มีใครรับรองความปลอดภัยได้นะครับ

4. ในระยะสั้น ระหว่างที่ รฟฟท. กำลังมีปัญหาการจัดการงานซ่อมบำรุง สิ่งที่ต้องเตรียมการเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน และเหตุเมื่อเช้าได้พิสูจน์ด้วยตัวมันเองว่า รฟฟท. take action หรือตอบสนองกับเหตุฉุกเฉินช้าเกินไป คือ ต้องเตรียมมาตรการฉุกเฉินเพื่อรองกับเหตุไม่พึงประสงค์ให้เร็วกว่านี้
หากอะไหล่ไม่มี ซ่อมไม่ 100% ก็ต้อง response กับปัญหาเร็วกว่านี้ครับ

5. SARL มีขบวนรถที่ซื้อมาใช้งานครั้งแรก เป็นรถแบบ Express 4 ขบวน และรถแบบ City Line 5 ขบวน ใช้ๆ ไป ก็จอดเสีย 1 ขบวน เพื่อถอดอะไหล่มาซ่อมให้กับ 8 ขบวนที่เหลือ แปลว่าจริงๆ ก็วิ่งได้แค่ 8 ขบวน

ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ทาง รฟฟท. ได้ยุติการให้บริการรถไฟด่วน Express เนื่องเพราะหลายเหตุผล ส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาการซ่อมบำรุง ทำให้มีการดัดแปลงสภาพรถไฟ Express มาให้บริการแบบ City Line

เท่าที่ผมทราบ ขณะนี้จอดเสียไปแล้ว 2 ขบวน วิ่งได้ 7 ขบวน แต่เอาเข้าจริงๆ ก็มีรถวิ่งได้แน่ๆ 5-6 ขบวน ด้วยสภาพความพร้อม 60-70%

6. ผมยังยืนยันคำพูดเดิมที่เคยพูดไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ว่า ระบบตรวจสอบความพร้อมของ SARL จะไม่ยอมให้รถที่มีปัญหาออกไปวิ่ง แต่การไม่ผ่านการซ่อมบำรุงหนัก ทะลุไปถึง 1.6-1.7 ล้านกิโลเมตร ย่อมหมายถึง "ทุกอย่างกำลังดำเนินไปภายใต้ความไม่แน่นอน" ไม่มีใครรับรองผลได้นะครับ

7. เหตุสุดวิสัยร้ายแรงอาจจะเกิดได้จากความบกพร่องของสภาพราง (แบบเดียวกับกรณี BTS แต่ที่น่ากลัวกว่า คือ SARL ไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบแบบเดียวกับที่ BTS ทำ) และการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินช้ากว่าที่ควรจะเป็น เช่น การปล่อยให้ผู้โดยสารติดอยู่ในรถนานกว่า 30 นาที โดยไม่มีการช่วยระบายอากาศ อาจส่งผลเสียรุนแรง และเหตุวันนี้คือสัญญาณเตือนที่ต้องระวัง

8. ปัญหาของ SARL ดูผิวเผินเป็นเรื่องการซ่อมบำรุง แต่ถ้ามองลึกๆ มองยาวๆ นี่คือเรื่องโครงสร้างองค์กร เรื่องการบริหารจัดการ เรื่องยุทธศาสตร์ ไล่เรียงไปจนถึงเรื่องความไม่พร้อมของไทยเอง ในการจะรับมือกับระบบขนส่งระบบรางที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ
เรื่องแค่นี้ปัจจุบันยังแก้ไม่ได้ แล้วเรื่องในอนาคตจะแก้กันได้อย่างไร

9. SARL อยู่ในสภาพวิกฤติ เวลาได้พิสูจน์ด้วยตัวมันเองแล้วว่า เงื่อนไขการบริหารจัดการในปัจจุบัน ไม่ทำให้ทั้ง รฟฟท. + รฟท. สามารถทำอะไรได้ (ถ้าทำได้ คงทำไปนานแล้ว)
นี่คือเวลาที่ทางรัฐบาล จะต้องดำเนินการอะไรบางอย่าง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป


ขอบคุณข้อมูลจาก Assistant Professor Pramual Suteecharuwat, Ph.D.

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์