ต้นศรีตรัง ต้นไม้ของพ่อในศิริราช ที่เหลือเพียงความทรงจำ

ต้นศรีตรัง ต้นไม้ของพ่อในศิริราช ที่เหลือเพียงความทรงจำ

จากที่สังคมขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก กับกรณีการยืนต้นตายของ "ต้นศรีตรัง" หนึ่งในสองต้นซึ่งเป็นต้นไม้ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูกภายในโรงพยาบาลศิริราช บริเวณสวนของลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ด้านหน้าอาคารศาลาศริริราช 100 ปี โดยสวนแห่งนี้จะอยู่ติดกับอาคารเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเคยเป็นอาคารที่ประทับครั้งที่พระองค์ เสด็จเข้ารับการรักษาพระอาการประชวร ที่ โรงพยาบาลศิริราช

ทีมข่าว โพสต์ทูเดย์ได้เดินทางมาดูบรรยากาศภายใน โรงพยาบาลศิริราช และได้สอบถามผู้ที่อยู่บริเวณโดยรอบสวนแห่งนี้ ซึ่งได้เล่าให้ฟังว่า ต้นศรีตรังต้นนี้เป็น 1 ใน 2 ต้นที่พระองค์ได้ทรงปลูกไว้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2554 ซึ่งต้นดังกล่าวครั้งที่ถูกนำมาปลูกใหม่ๆ มีขนาดใหญ่โตใกล้เคียงกับขนาดต้นปัจจุบันที่ยืนต้นตายเพียงเล็กน้อย ส่วนอีกต้นปลูกอยู่ภายในสวนฝั่งตรงข้าม บริเวณด้านหน้าตึกอัษฎางค์ สำหรับต้นที่ 2 ครั้งที่นำมาปลูกใหม่ๆ จะมีขนาดเล็กกว่าต้นที่ตายมาก และในปัจจุบันต้นที่ยังอยู่ มีลักษณะเขียวชอุ่มสวยงาม

จากการสอบถามผู้เกี่ยวข้อง เล่าอีกว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีหลังจากที่พระองค์ทรงปลูกต้นนี้ในบริเวณดังกล่าว ลักษณะต้นจะเขียวชอุ่มและมีดอกสีม่วงขึ้นสวยงามอยู่เป็นประจำ 

ทว่าเมื่อ ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก่อนที่ต้นศรีตรังต้นนี้จะยืนต้นตาย พบว่าใบเริ่มมีลักษณะสีเหลือง และร่วงลงมาอย่างรวดเร็วใช้เวลาเพียง 2-3วัน จากต้นที่เคยสวยงามใบร่วงลงมาหมดทั้งต้น ก่อนยืนต้นตายในที่สุด สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้ที่พบเห็นอย่างมาก แม้แต่เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเมื่อทราบ ก็เข้ามาตรวจสอบสภาพดิน เพื่อหาสาเหตุของการยืนต้นตาย แต่ก็ไม่ทราบสาเหตุ
 
อย่างไรก็ตามหากย้อนไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2554 ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินลงมาจากห้องประทับชั้น 16 ของอาคารเฉลิมพระเกียรติ เพื่อลงมาปลูกต้นศรีตรัง 2 ต้นนี้พร้อมกับรดน้ำพรวนดิน เพื่อต้องการให้เป็นสิ่งสิริมงคลแก่ทาง โรงพยาบาลศิริราช


ต้นศรีตรัง ต้นไม้ของพ่อในศิริราช ที่เหลือเพียงความทรงจำ

ต้นศรีตรังอีกต้นที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปลูกยังเขียวชอุ่มสวยงาม



ทั้งนี้ ต้นศรีตรัง เป็นต้นไม้ประจำถิ่นของประเทศบราซิล และทวีปอเมริกาใต้ ต้นศรีตรังถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วที่จังหวัดตรัง โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี อดีตผู้ว่าราชการเมืองตรัง สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต จากนั้นต้นศรีตรัง ถูกยกให้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดตรัง และมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า แคฝอย

ลักษณะทั่วไปของต้นศรีตรังเป็นไม่ยืนต้น วงศ์เดียวกับชมพูพันธุ์ทิพย์ ความสูงเฉลี่ยนประมาณ 4-10 เมตร ใบมีลักษณะเรียวคล้ายปลายขนนกช่วงปลายแหลม ต้นศรีตรังมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ ชนิดที่มีช่อดอกที่ปลายยอด กับชนิดที่มีช่อดอกออกตามซอกใบตามกิ่งก้าน และปลายยอด โดยชนิดหลังเป็นที่นิยมปลูกมากในประเทศไทย เนื่องจากลักษณะต้นเป็นทรงพุ่มคอนข้างโปร่ง คนไทยจึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อให้ร่มเงาแก่บริเวณบ้าน ส่วนในที่ต่างประเทศนิยมปลูกตามข้างทางเรียงเป็นทิวแถวตามถนนเพื่อความสวยงาม

ดอกมีลักษณะคล้ายปากแตรสีม่วง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกมักออกช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม และเมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน - พฤษภาคม ดอกจะร่วงเหลือแต่ผลแก่ๆ ขณะที่การดูแลบำรุงรักษา ต้นศรีตรังถือว่าเป็นต้นไม่ที่ปลูกและดูแลง่าย สามารถอยู่ได้กับดินทุกชนิด มักนิยมปลูกกลางแจ้งเพราะเป็นต้นไม้ชอบแดดจัด แต่ต้องให้น้ำเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นพอสมควร ส่วนการขยายพันธุ์จะใช้การเพาะเมล็ด

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลศิริ
ราช เล่าอีกว่า บรรยากาศภายใน โรงพยาบาลศิริราช ขณะนี้ ต่างจากเมื่อก่อนมาก เพราะตอนนั้นมักจะมีประชาชนจำนวนมาก เดินทางมาเพื่อเฝ้าติดตามพระอาการของพระองค์อยู่ตลอด และกิจกรรมที่พบเห็นเป็นประจำคือ การสวดมนต์ นั่งสมาธิ และผู้ที่มาก็คอยช่วยเหลืองานต่างๆภายในโรงพยาบาล แต่บรรยากาศขณะนี้ในวันที่พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ที่ โรงพยาบาลศิริราช ทุกอย่างดูแต่ต่างไปจากเดิม ผู้คนที่มาน้อยลง มีเพียงเฉพาะผู้ป่วยและญาติที่มารักษาเท่านั้น

ทั้งนี้ข้อมูลจาก กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (http://www.orsa.mahidol.ac.th/StyleMahidol/tree.html) ระบุว่า  แต่เดิมชาวมหิดลใช้ต้นศรีตรังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเหตุผลกันเป็นเรื่องเล่าต่อกันมาว่า มีการปลูกต้นศรีตรังในคณะวิทยาศาสตร์ เมื่อเริ่มก่อตั้งคณะ และคณะวิทยาศาสตร์เป็นคณะที่เก่าแก่ที่สุดในมหาวิทยาลัยมหิดลจนกระทรั่งเกิดเพลง "ศรีตรัง" ซึ่งเป็นเพราะประจำมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าต้นศรีตรังเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ ต่อมา ศาสตราจารย์สตางค์ มงคลสุข อดีตคณบดีท่านแรก และผู้ก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ได้ย้ายไปเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้นำต้นศรีตรังไปปลูกที่สงขลา และต้นศรีตรังเจริญงอกงามดีในภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงประกาศให้ต้นศรีตรัง เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ด้วยเหตุของเรื่องที่ไม่มีการยืนยันดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดล ดำริที่จะหาต้นไม้ต้นใหม่เป็นสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการ และไม่ซ้ำกับที่อื่น จึงได้ตั้งกฎเกณฑ์การประกวดว่าต้องเป็นต้นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีความเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยมหิดลในแง่ใดแง่หนึ่ง และไม่ซ้ำกับพรรณไม้สัญลักษณ์ของสถาบันการศึกษาอื่นในประเทศไทย





ที่มา : Posttoday.com

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์