คุณแม่ เจอแบบเรียนลูก ป.5 ทนไม่ได้ ข้อมูลผิดเพียบ! เขียนแก้ไขทันที

คุณแม่ เจอแบบเรียนลูก ป.5 ทนไม่ได้ ข้อมูลผิดเพียบ! เขียนแก้ไขทันที


โซเชียลแชร์ต่อกันหนักมาก กับสเตตัสจากเฟซบุ๊ก ของบคุณแม่รายหนึ่ง ที่ชื่อ Thitinadda Chinachan ซึ่งเธอบังเอิญได้เจอข้อความจากหนังสือแบบเรียนของลูกสาว ชั้นป.5 ซึ่งมีการให้ข้อมูลผิดๆ ทำให้เธอตัดสินใจแก้ไขข้อมูล และโพสต์ภาพดังกล่าวลง โซเชียล 


พร้อมระบุข้อความว่า

"เปิดหนังสือเรียนป.5 ของสาวไหม เจอข้อมูลฟ้อนสาวไหม ผิดอย่างให้อภัยไม่ได้ เลยขอแก้ข้อมูล กำชับด้วยว่าหากครูสงสัย ให้บอกว่าแม่เป็นนักวิจัย เก็บข้อมูลมาจากต้นฉบับซึ่งเป็นลูกสาวของคนที่คิดประดิษฐ์ฟ้อนนี้

ป.ล.เนื่องจากสเตตัสนี้ถูกแชร์ไปค่อนข้างมาก หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าตำราที่นัดพูดถึงเป็นของสำนักพิมพ์ที่เห็นโลโก้ปรากฏอยู่เล่มข้างล่าง จึงชี้แจงว่า ไม่ใช่สำนักพิมพ์เดียวกันนะคะ พอดีถ่ายตอนที่เพิ่งได้หนังสือเรียนจากโรงเรียนค่ะ เอามากองๆ และเปิดดูเนื้อหาเลยถ่ายรูปมา ไม่คิดว่าจะแชร์กันไปเยอะขนาดนี้ค่ะ

***
ไหนๆ ก็ไหนๆ ขอให้ข้อมูลเท่าที่พอรู้มาก็แล้วกันนะคะว่าฟ้อนสาวไหมมีความเป็นมาอย่างไร เผื่อพ่อแม่ผู้ปกครองที่ลูกใช้หนังสือ ศิลปะ ป.5 จะได้เอาไปยืนยันกับครูได้

การฟ้อนสาวไหมเป็นการฟ้อนประดิษฐ์ใหม่ที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยพ่อครูกุย สุภาวสิทธิ์ พ่อครูกุยมีถิ่นฐานเดิมอยู่บ้านแม่ก๊ะ(ถ้าจำไม่ผิดและจำไม่สับสนกับพ่อครูคำสุข ช่างสาน) อ.ดอยสะเก็ด จ. เชียงใหม่ ต่อมาย้ายถิ่นฐานไปมีครอบครัวอยู่ที่บ้านศรีทรายมูล อ.เมือง จ.เชียงราย

พ่อครูกุยเคยเรียนเจิงหรือศิลปะการต่อสู้กับบรมครูของล้านนาชื่อพ่อครูปวน คำมาแดง บ้านร้องวัวแดง อ.สันกำแพง ซึ่งพ่อครูปวนนี้เรียนศิลปะการต่อสู้กับครูนับสิบสำนัก และพัฒนามาเป็นเจิงของตนเอง มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วล้านนา แม่ท่าหนึ่งของเจิงพ่อครูปวนที่อาจจะนับเป็น signature ของเจิงสายนี้คือการสาวไหม (จริงๆ แล้วแม่ท่าสาวไหมก็ปรากฏในเจิงของอีกหลายสำนัก แต่มีท่วงท่าการฟ้อนและการตีความต่างกันไป) อ.สนั่น ธรรมธิซึ่งเป็นศิษย์ของพ่อครูคำสุข ช่างสาน(ซึ่งพ่อครูคำสุขเป็นศิษย์รุ่นท้ายๆ ของพ่อครูปวนและเป็นศิษย์น้องของพ่อครูกุย) เคยให้ชื่อว่า "สาวไหมลายเจิง"

พ่อครูกุยได้ถ่ายทอดเจิงให้ลูกสาวลูกชาย แต่คนที่มีพรสวรรค์ในศิลปะการแสดงมากที่สุดคือด.ญ.บัวเรียว สุภาวสิทธิ์(ต่อมาแต่งงาน ใช้นามสกุล รัตนมณีภรณ์)แต่ภรรยาของพ่อครูกุยก็ไม่อยากให้ลูกสาวไปฟ้อนเจิงโลดโผนเหมือนผู้ชาย พ่อครูกุยจึงคิดประดิษฐ์ท่าฟ้อนที่อ่อนช้อยสำหรับผู้หญิงเพื่อให้ลูกสาวได้ฟ้อน โดยอาศัยวิถีชีวิตชาวบ้านมาเป็นแรงบันดาลใจ คือขั้นตอนของการปลูกฝ้าย ทอผ้า ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนล้านนาที่ทอผ้าฝ้ายใช้กันเอง ส่วนผ้าไหมนั้น ทางล้านนามีน้อยมาก เข้าใจว่าเริ่มมานิยมกันหลังจากที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสด็จกลับมาอยู่เชียงใหม่อย่างถาวรตั้งแต่ปีพ.ศ.2457 ก็ได้มาส่งเสริมการทอผ้ายกดอก แต่ก็นิยมในวงของคนชั้นสูง ในคุ้มเท่านั้น ชาวบ้านก็ยังใช้ผ้าฝ้ายกันตามปกติ(หากนัดเข้าใจตรงนี้คลาดเคลื่อน รบกวนพ่อครูแม่ครูด้านผ้าทอแก้ไขให้ด้วยนะคะ)

การประดิษฐ์การฟ้อนสาวไหมนี้ แม่ครูบัวเรียวได้นำท่าฟ้อนที่พ่อครูกุยสอนให้ไปฟ้อนให้พ่อครูโม ใจสม พ่อครูดนตรีไทยที่อพยพมาจากกรุงเทพ ตั้งแต่หลังสงครามโลกและตั้งวงดนตรีที่วัดศรีทรายมูลได้ดู พ่อครูโมได้ช่วยปรับท่าและใช้ดนตรีปี่พาทย์เพลง ลาวสมเด็จ เพื่อใช้ประกอบการฟ้อน

ฟ้อนสาวไหมได้เผยแพร่ไปทั่วเชียงรายด้วยการฟ้อนของแม่ครูบัวเรียว ซึ่งครูพลอยสี สรรพศรี ได้มาต่อฟ้อนกับแม่ครูบัวเรียวและขออนุญาตปรับปรุงท่าฟ้อนบางท่าเพื่อเผยแพร่ให้แก่นักเรียนนาฏศิลป์ ซึ่งท่าฟ้อนเหล่านั้นจะใช้นาฏยลีลาของกรมศิลป์มาผสมผสาน ต่อมาการฟ้อนสาวไหมที่เผยแพร่ผ่านวิทยาลัยนาฏศิลป์จะเรียกกันว่าสาวไหมนาฏศิลป์ นิยมใช้เพลงปั่นฝ้ายเป็นดนตรีประกอบ ในขณะที่การฟ้อนสาวไหมของแม่ครูบัวเรียวมักจะเรียกกันว่าสาวไหมเชียงราย เพลงที่ใช้ประกอบการฟ้อน ไม่ได้ตายตัวว่าจะต้องเป็นเพลงปั่นฝ้ายเท่านั้น แต่ที่แน่ๆ คือใช้วงสะล้อซึง หรือปี่พาทย์ แต่ไม่ใช่วงกลองตึ่งโนงเหมือนฟ้อนเล็บหรือฟ้อนเทียน

หากข้อมูลตรงไหนผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป รบกวนแม่ครูบัวเรียวและลูกศิษย์ลูกหาแม่ครูช่วยแก้ไข เพิ่มเติมด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ
-----

เพิ่มเติมค่ะ

เมื่อวานที่เขียนแก้ในหนังสือและอัพสเตตัสเพราะรู้สึก "ลมขึ้น" กับตำราที่เขียนกันแบบมักง่าย ข้อมูลที่ผิดพลาดนั้น ไม่ได้ผิดพลาดเพียงแค่องค์ประกอบของการฟ้อนหรือประวัติของการฟ้อนเท่านั้น แต่มันผิดพลาดหนักตรงที่บอกว่า "การต้มไหม สาวไหมมาทอเป็นผืนผ้าเป็นวิถีชีวิตการทำมาหากินของคนในภาคเหนือ" มันบอกถึงความไม่เข้าใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ภูมิศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมที่แตกต่างกันของคนละแต่ท้องถิ่นเลย

สิ่งเหล่านี้เราเคยเจอในหนังสือเรียนชั้นป.4 มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ใช่สิ่งผิดพลาดชัดเจนเช่นนี้ เป็นแต่เพียงความตื้นเขิน ซึ่งเราต้องแยกให้ออกระหว่างความถูกต้องของข้อมูลกับการนำเสนอให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย

การจะสอนเด็กปฐมวัยมันก็ต้องมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างไปจากเด็กในระดับที่สูงขึ้น แต่มันต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง สิ่งที่เราพบว่าผิดพลาดเป็นเพียง 1 ใน 100 ของตำราเรียน ที่รู้ว่าผิดเพราะบังเอิญว่าเราเคยศึกษา มีความรู้ในเรื่องนี้ แต่เนื้อหาในส่วนอื่นๆ ที่เราไม่รู้ล่ะ จะผิดพลาดอย่างไรบ้าง เราไม่อาจจะรู้ได้เลย ในคอมเมนต์ข้างล่าง อาจารย์ของนัดซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านคติชนวิทยาระดับประเทศก็ให้ความเห็นว่าเซิ้งบั้งไฟ(ที่ถ่ายติดมา 1 ย่อหน้า) ข้อมูลก็ผิด

เห็นแล้วเป็นห่วงค่ะ นัดไม่รู้ว่าขั้นตอนของการผลิตตำราสำหรับนักเรียนเป็นอย่างไร ใครเป็นคนเขียนได้บ้าง ใครเป็นตรวจทานบ้าง บางทีอาจจะถึงเวลาที่ต้องระดมความคิดจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญของแต่ละท้องถิ่น แต่ละวัฒนธรรมเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลิตตำราเพื่อวางรากฐานที่ถูกต้องให้อนาคตของชาติแล้วล่ะค่ะ"

คุณแม่ เจอแบบเรียนลูก ป.5 ทนไม่ได้ ข้อมูลผิดเพียบ! เขียนแก้ไขทันที

ที่มาจาก>>

Thitinadda Chinachan FACEBOOK

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์