ล่าสุด รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้แจงถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า แท้จริงแล้วเป็นเพียงขั้นตอนการฉัดวัคซีนให้ปลาทับทิมรุ่นเล็กที่ถูกทำให้น็อกชั่วคราว และเป็นเรื่องที่ถูกนำมาแชร์ใหม่อีกครั้ง
ภาพที่หาว่า "ปลาทับทิมถูกฉีดฟอร์มาลิน" กลับมาแชร์กันอีกแล้ว .... เรื่องหลอกนะครับ จริงๆเป็น "การฉีดวัคซีน" ให้ปลาต่างหาก ปลามันแค่สลบไป ยังไม่ตาย
------
ข้อมูลจาก http://www.platuannum.com/2015/09/112/
ขั้นตอนดังกล่าวเป็นการฉีดวัคซีนในปลารุ่นเล็ก โดยจะมีการฉีดให้เฉพาะกับปลา ขนาด 30-50-100 กรัม เพื่อนำไปเลี้ยงเป็นปลาเนื้อต่อไป โดยวัคซีนที่ฉีดให้กับปลานั้นเป็น "วัคซีนเชื้อตาย" ( Aeromonas sp. + Streptococcosis sp. ) ซึ่งเป็นยี่ห้อที่ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองจาก องค์การอาหารและยา (อย.) เรียบร้อย โดยในการฉีด จะต้องฉีดทีละตัวตามลักษณะในภาพ จากนั้นจะมีรางสเตนเลสปล่อยให้ปลาไหลกลับลงกระชัง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวใช้ระยะเวลาไม่นาน โดยสำหรับ "วัคซีนเชื้อตาย " เป็นวัคซีนที่นำเอาเฉพาะบางส่วนของแบคทีเรียก่อโรค หรือ toxin ที่เป็นพิษมาทำให้ปลอดภัย แต่ยังสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของปลาได้ จากนั้นจึงนำมาฉีดให้ปลา เพื่อให้ปลามีการสร้างภูมิต้านทานต่อโรคนั้นๆ โดยหากไม่มีการฉีดวัคซีนดังกล่าว ปลามีโอกาสตายอย่างรวดเร็วและปริมาณมากหากเกิดโรคระบาด แต่หากลูกปลาที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมีโอกาสรอดในการเลี้ยงในกระชังถึงร้อยละ 80-87 ในขณะที่ต้นทุนเพิ่มค่าวัคซีนมีเพียงไม่มากนัก ซึ่งสารวัคซีนดังกล่าวจะถูกฉีดให้ในขณะที่ปลายังเล็ก และจะมีการหยุดใช้ยาอย่างน้อย 21 วันก่อนการจับขาย เพื่อมิให้ยาเกิดการตกค้างในปลา **(อ้างอิงข้อมูลวิจัยบางส่วนจากภาควิชาประมง คณะเกษตรศาสตรมหาวิทยาลัยขอนแกน) ซึ่งในฐานะของผู้บริโภคมั่นใจได้ในความปลอดภัยว่าหากรับประทานปลาเหล่านี้ไป จะไม่ก่อให้เกิดโทษสะสมในร่างกาย หากเกษตรกรผู้เลี้ยงดำเนินการตามคำแนะนำของนักวิชาการประมง
*ข้อมูลการการใช้ "วัคซีนเชื้อตาย" กับการป้องกันโรคของปลานิล ( Aeromonas sp. + Streptococcosis sp. ) >>>http://www.resjournal.kku.ac.th/article/11_1_53.pdf