จากกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ควบคุมตัวนายวิรพล สุขผล อดีตพระภิกษุชื่อพระวิรพล ฉัตติโก หรือเณรคำ อดีตประธานสงฆ์สำนักสงฆ์วัดป่าขันติธรรม จ.ศรีสะเกษ เดินทางจากสหรัฐ กลับมาเมื่องไทย เพื่อดำเนินคดีในข้อหาพรากผู้เยาว์, กระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, ฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงิน เมื่อกลางดึกวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา
โดยอดีตพระวิรพล ฉัตติโก ถูกคณะสงฆ์ผู้พิจารณาอธิกรณ์ปรับอาบัติปาราชิก ให้ขาดจากความเป็นพระภิกษุสงฆ์ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2556 หลังจากต้องคดีพรากผู้เยาว์ รวมทั้งยังมีความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติในครอบครองหลายพันล้าน
เมื่อดีเอสไอควบคุมตัวนายวิรพลกลับมาถึงเมืองไทย สื่อมวลชนต่างพาดหัวข่าวว่า "สมีเณรคำ" จนชาวเน็ตตั้งคำถามว่าทำไมต้องเรียกว่า "สมี"
ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ระบุความหมายของคำว่า "สมี" ดังนี้ (๑) [สะหฺมี] น. คำเรียกพระภิกษุผู้ต้องอธิกรณ์ขั้นปาราชิก (๒) (โบ) น. คำใช้เรียกพระภิกษุ
ส่วนพจนานุกรม อ.เปลื้อง ณ นคร ได้ระบุความหมายของคำว่า "สมี" ดังนี้ สมี [สะ-หฺมี] น. คำเรียกคนถูกไล่สึกจากพระ เพราะต้องอาบัติปาราชิก บุคคลที่เป็นสมีจะบวชอีกไม่ได้ตลอดชีวิต
ส่วนอาบัติปาราชิกมีบัญญัติไว้ว่า เมื่อพระภิกษุอาบัติปาราชิกแล้ว ต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที แม้จะไม่ยอมสึกออกจากการเป็นพระภิกษุก็ตาม นอกจากนี้ ทางพระวินัยถือว่า พระภิกษุที่อาบัติปาราชิกแล้ว จะไม่สามารถทำกิจร่วมกับพระภิกษุอื่นได้ และไม่สามารถบวชเป็นพระได้อีกตลอดชีวิต ส่วนสาเหตุที่ส่งผลให้อาบัติปาราชิก มี 4 ข้อ ดังนี้
1. เสพเมถุน กรณีที่พระภิกษุเสพสังวาสกับสตรี หรือแม้แต่เดรัจฉานเพศเมีย ถือว่าขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที แม้จะอยู่ในผ้าเหลืองหรือไม่ก็ตาม ถือว่าขาดจากการเป็นพระขณะที่สำเร็จกิจ
2. ลักขโมย เมื่อมีเจตนาลักขโมยของที่เจ้าของไม่ได้อนุญาตด้วยจิตที่จะลัก 3. ฆ่ามนุษย์ ทั้งฆ่าให้ตายด้วยตนเอง หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า กรณีนี้ คือ พระภิกษุมีเจตนาตั้งใจที่จะฆ่าอยู่แล้ว เช่น คิดและมีการวางแผนฆ่าให้ตาย เมื่อไม่ตายก็พยายามแล้วพยายามอีกจนเสียชีวิต และ 4. พูดอวดคุณวิเศษ ในที่นี้หมายภูมิธรรม อาทิ ไม่ได้เป็นพระโสดาบัน แต่กลับอ้างตัวว่า บรรลุฌานสมาบัติ เป็นต้น
ในอดีตมีพระที่ต้องอาบัติปาราชิก ซึ่งหนังสือพิมพ์ข่าวสดพาดหัวกรณีมหาเถรสมาคมพิจารณาให้อดีตพระยันตระพ้นจากความเป็นพระภิกษุ เมื่อปี 2537 แต่เจ้าตัวไม่ยอมรับมติสงฆ์ดังกล่าว ก่อนลักลอบทำหนังสือเดินทางปลอมหลบหนีออกจากประเทศไทย ซึ่งสื่อมวลชนพาดหัวว่า "สมียันตระ" หรือ "สมียันดะ" ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังเมื่อ 20 ปีก่อน