สำนักข่าวบีบีซี เปิดเผยเรื่องราวของหญิงพิการชาวอิหร่าน หลงรักลูกชายของเพื่อนบ้านมานานถึง 30 ปี แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตร่วมกับเขาด้วยสถานะที่เธอเป็น จึงอยากบอกให้ทุกคนได้รู้ว่า 'หญิงพิการก็มีความต้องการทางเพศเหมือนกัน'
หญิงพิการ หลงรัก หนุ่มเพื่อนบ้านมานานถึง 30 ปี เผย เธอก็มีความต้องการทางเพศเหมือนกัน!
นักรณรงค์กล่าวว่า มีผู้พิการมากกว่า 10 ล้านคนในอิหร่าน แต่บางคนเผชิญกับปัญหาทางวัฒนธรรมในสังคม เนื่องจากสิ่งต้องห้ามในประเทศที่มีสังคมอนุรักษ์นิยมก็คือเรื่อง 'เพศ' ยิ่งเป็นผู้หญิงพิการด้วยแล้ว ความต้องการทางเพศถือเป็นเรื่องต้องห้าม นี่คือเรื่องราวการเปิดใจของ มิตรา ฟาราซานเดห์ อายุ 41 ปี หญิงพิการที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆทางตอนเหนือของอิหร่าน เล่าถึงประสบการณ์และความคับข้องใจที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเธอ
"ฉันเป็นผู้หญิงที่มีความพิการทางร่างกาย 75% และฉันเคยมีความรัก ฉันพูดเสมอว่าคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์หรือรู้สึกมีรักกับใครนั้นเปรียบเหมือนหุ่นไล่กาที่อยู่ในฟาร์ม ตอนฉันอายุ 11 ปี ฉันตระหนักว่าตัวเองแอบตกหลุมรักลูกชายของเพื่อนบ้าน ความรู้สึกนี้มันไม่มีเหตุผลกับฉันเลย ในช่วงเวลานั้นฉันไม่เห็นว่าตัวเองเป็นคน เพราะว่าความพิการและความผิดปกติที่เป็นอยู่ ฉันไม่เชื่อว่าตัวเองสมควรจะได้มีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ ได้แต่เฝ้ารอความตายที่ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น
หลัง 14 ปีผ่านไป ฉันยังคงเก็บงำความรู้สึกเอาไว้ภายใน ก่อนตัดสินใจสารภาพรักกับเขาและบอกกับครอบครัว เขารับรักฉัน แต่ครอบครัวของฉันไม่ยอม มันทำให้ชีวิตฉันเหมือนตกนรกทั้งเป็นอยู่ราว 2-3 ปี แต่ความรักที่ฉันมีต่อเขาทำให้รู้ว่า ฉันควรจะรักตัวเองอย่างไร ฉันรักชายคนนี้มานานถึง 30 ปี แม้ว่าเราจะไม่เคยได้ใช้ชีวิตด้วยกัน
ความจริงคือไม่ว่าจะพิการหรือไม่ ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความต้องการทางเพศและความรู้สึกเหมือนกับผู้หญิงทั่วไปมี ฉันอยากจะมีคนรักโอบกอดและลูบผมฉันในตอนกลางคืน แต่โชคร้ายที่ผู้คนในสังคมวัฒนธรรมของเราเชื่อว่าผู้หญิงพิการอย่างฉันไม่สมควรจะมีความรักหรือรับรักจากใคร มันทำให้ฉันเจ็บปวด
พ่อไม่ยอมให้ฉันมีคนรัก หญิงพิการเหมือนฉันหลายคนต้องทุกข์ทรมานจากการที่ต้องเก็บกดความรู้สึกและความต้องการทางเพศเอาไว้ ฉันเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดควรจะมาจากข้างในเราเอง เราคือคนที่ต้องยอมรับความต้องการทางเพศและขีดจำกัดของตัวเอง เราเชื่อว่าเราสมควรจะได้ใช้ชีวิตได้เต็มที่ และมีความสุขในชีวิตโดยไม่ต้องคิดถึงว่าเราพิการหรือไม่ เมื่อเราเชื่อเช่นนั้น คนรอบข้างก็จะเริ่มเคารพในความต้องการของเรา"
ที่มา liekr