ในโซเชียลมีเดียมีรูปถ่ายของอเล็กซ์ เลสลีย์ คู่กับศูนย์นวัตกรรม "สโกลกาวา" กลางกรุงมอสโกของรัสเซีย โดยตรวจสอบข้อมูลพบว่า อเล็กซ์ เลสลีย์ เป็นผู้ก่อตั้ง "ศูนย์ระบบพยากรณ์ทางปัญญา" มูลนิธิของศูนย์นวัตกรรม "สโกลกาวา"
ข้อมูลบนเว็บไซต์ศูนย์นวัตกรรม "สโกลกาวา" ระบุว่า นายอเล็กซานเดอร์ คีริลลอฟ เป็นผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ นักอุดมคติ และนักลงทุนงานวิจัย โดยจดสิทธิบัตรไว้ในสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย รวมทั้งงานวิจัยของเขาได้รับการตีพิมพ์มากกว่าสิบชิ้นในนิตยสารวิทยาศาสตร์ภาษาอังกฤษ
นอกจากนี้ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก "สำนักโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหม" (ดาร์ปา) และ "องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ" (นาซา) ของสหรัฐอเมริกาทั้งคู่ และมีคอนแท็กกับนาซา, ดาร์ปา, ราฟาเอล บริษัทด้านความมั่นคงของอิสราเอล, โบอิ้ง บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินของฝรั่งเศส, ห้องปฏิบัติการในอังกฤษ และศูนย์วิจัยอีกหลายแห่งตามมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก
อนาสตาเซีย วาชูเควิช (นาสเตีย ริบก้า) สาวคู่หู ผู้เชี่ยวชาญด้านการล่ามหาเศรษฐี ชี้แจงเรื่องดังกล่าวผ่านทางวิทยุ "คอมโซมอลสกายา ปราฟดา" เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่เธอและแก๊งเซ็กซ์กูรูรวม 10 คน ถูกจับกุมที่เมืองพัทยา ว่า ความจริงแล้ว อเล็กซ์ เลสลีย์ ไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนงานวิจัยจากรัฐบาลรัสเซียเลยแม้แต่นิดเดียว
"น่าอัปยศสิ้นดี รัสเซียมีนักวิทยาศาสตร์ แต่แทนที่จะมีโอกาสพัฒนางานวิจัยของตัวเอง จำต้องมาเปิดคอร์สฝึกเพศสัมพันธ์เพื่อหาเงิน"
"อเล็กซ์เคยบอกว่า ศูนย์นวัตกรรม "สโกลกาวา" ไม่ได้ให้เงินทุนสนับสนุนงานวิจัยของเขา ทั้งที่คลุกตัวอยู่กับงานด้านวิทยาศาสตร์มา 15 ปี มีงานวิจัยเรื่องการติดตามดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยเรื่องการวิเคราะห์ความผิดพลาดในการทำงานของมอเตอร์เครื่องยนต์ อเล็กซ์ยังทำงานกับนักลงทุนอเมริกันบางเจ้า แต่ที่จริงแล้วตอนนี้อเล็กซ์เป็นคนเดียวที่เป็นนักลงทุนสนับสนุนงานวิจัยของตัวเอง เขาจะได้เงินทุนมาจากไหนล่ะ รัฐบาลรัสเซียควรละอายใจบ้างนะ" นาสเตีย ริบก้า กล่าว
นอกจากนี้ ยังพบบทความทางวิทยาศาสตร์ในอินเตอร์เน็ต "ตอนนี้สามารถทำนายภาวะหัวใจล้มเหลวได้โดยใช้สมาร์ตโฟน" ระบุชื่อ อเล็กซานเดอร์ คีริลลอฟ ชื่อ-นามสกุลจริงของ อเล็กซ์ เลสลีย์ เมื่อบทความดังกล่าวไปถึงมือของนพ.ยาโรฟสลัพ อาชีฮ์มิน แพทย์โรคหัวใจและหัวหน้าโรงพยาบาลอิลอินสค์ สมาชิกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งยุโรป และสมาคมหัวใจแห่งอเมริกัน เพื่อขอแนะนำว่า บทความวิจัยดังกล่าวของอเล็กซานเดอร์ คีริลลอฟ มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์หรือไม่
"ผมมีข้อสงสัยอย่างมากว่า เป็นการค้นพบที่ก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์จริงหรือไม่ เนื่องจากวิธีการดังกล่าว (ใช้สมาร์ตโฟนบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากผิวหนังด้านนอก - ผู้แปล) จะทำให้ทราบอาการของหัวใจผู้ป่วยแต่ละคนเพียงน้อยนิด เช่น หากเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายในนาทีแรก เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจก็ไม่สามารถตรวจพบได้ ซึ่งไม่มีใครในโลกทำได้โดยประสบความสำเร็จ เพื่อให้งานวิจัยดังกล่าวได้รับความน่าเชื่อ จำเป็นต้องการทำการศึกษาเป็นระยะเวลา 5-10 ปี ต้องทดสอบกลุ่มตัวอย่างโดยใช้หลายพันคนและเฝ้าดูติดตามว่ามันทำงานได้จริง และอาจต้องทดลองกับสัตว์ทดลองด้วย"
"ผมเห็นว่างานวิจัยทางการแพทย์ของอเล็กซานเดอร์ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น และเป็นไปไม่ได้ที่จะผ่านด้วยโครงร่าง "กระจอก" และ "ไร้ค่า" ของงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นเรื่องดีมากและขอชื่นชมฝ่ายบริหารจัดการกองทุนวิจัย เพราะไม่จำเป็นต้องให้เงินทุน (สนับสนุนงานวิจัยชิ้นนี้)" นพ.ยาโรฟสลัพ อาชีฮ์มิน กล่าว