ในตอนนี้ กระแสละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ได้ดังกระหึ่มออกไปทั่วโลก จนถึงขั้นติดเทรนด์โลก ด้วยความละเมียดละไมในเรื่องงานโปรดักชั่น การออกแบบ ไปจนถึงบทละครที่มีการดัดแปลงออกมาได้เป็นอย่างดี จนผู้คนหันไปแต่งชุดไทย ถ่ายรุปกับวัดไชยฯ ในเรื่องกันอย่างมากมาย
ทว่า ละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ก็ยังมีช่องโหว่ที่ต้องแก้ไข เมื่อล่าสุด วัชชิรานนท์ ทองเทพ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย ได้ไปสัมภาษณ์ ลุพธ์ อุตมะ นักออกแบบเครื่องแต่งกาย ผู้เคยเข้าชิงรางวัล Emmy Award เมื่อปี 2009 กับภาพยนตร์เรื่อง The House of Saddam และเขายังเป็นหนึ่งในทีมงานของภาพยนตร์ดังอย่าง The Duchess และ The Young Victoria ที่กล่าวว่า เครื่องนุ่งห่มในละครเรื่อง บุพเพสันนิวาสนั้น สามารถทำออกมาได้อย่างเหมาะสม มีการใช้เครื่องนุ่งห่มจากหัวเมืองเหนือเข้ามา เพื่อสื่อถึงความสัมพันธ์ของผู้คน หากแต่ในเรื่องยังมีข้อบกพร่อง ตรงที่เครื่องแต่งกายของ คอนสแตนติน ฟอลคอน และ มาเรีย กีมาร์ ถือเป็นแบบแพทเทิร์นสมัยใหม่ ผิดสัดส่วน และเครื่องแต่งกายของทั้งสองคนจะคล้ายสมัยวิคตอเรียตอนต้น ช่วงปี 1830-1840 ล้ำหน้าไป 200 ปี
อย่างไรก็ตาม กิจจา ลาโพธิ์ หัวหน้าฝ่ายออกแบบเครื่องแต่งกายในละครบุพเพสันนิวาส ก็ได้กล่าวกับีบีซีไทยเช่นกันว่า ข้อ จำกัดในเรื่องการออกแบบเครื่องแต่งกายนั้น คือในสมัยพระนารายณ์มหาราช ไม่มีภาพถ่าย เครื่องแต่งกายจึงมาจากการค้นคว้าประวัติศาสตร์จากทั้งจดหมายเหตุลาลูแบร์ ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ฯลฯ รวมไปถึงนโยบายของสถานีที่ต้อง การให้นักแสดงตัวเอก แตกต่างไปจากตัวละครอื่น ๆ เช่น การที่ตัวเอกอย่างการะเกด ขุนหมื่น หมื่นเรือง ฟันไม่ดำ ทั้งที่ตัวละครอื่น ๆ ฟันดำกันหมด และฟันดำก็เป็นปกติของสมัยนั้น
อย่างไรก็ตาม กิจจา ลาโพธิ์ ก็ยอมรับว่า แม้ว่าตนจะรู้ว่ามีนักวิชาการจับจ้อง แต่ตนก็พร้อมที่จะรับคำติชม เพราะคำเหล่านี้ถือเป็นอาจารย์ ช่วยในการปรับปรุงแก้ไขต่อไป
นอกจากนี้ ในบทความดังกล่าว ยังได้มีการหยิบยกความคิดเห็นของ พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พูดถึงความไม่สมจริงของ ป้อมเพชร และสัมภาษณ์ของ อ.ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นักเขียนบทของเรื่อง ที่ใช้เวลาในการร่างบทละครเรื่องนี้กว่า 7 ร่าง กว่าจะได้ออกมาเป็นละครที่ครองใจคนไทยขนาดนี้ ซึ่งสามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ บีบีซีไทย