นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ที่หายตัวไปอย่างลึกลับ และมีเงื่องำเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2547 หลังเกิดเหตุนางอังคณา ได้ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้สามีอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน 14 ปี แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่กระจ่างชัดว่าทนายสมชายหายตัวไปได้อย่างไร
“อังคณา นีละไพจิตร” ออกแถลงการณ์ครบรอบ “ทนายสมชาย หายตัว” เศร้า 14 ปี ไร้ซึ่งยุติธรรม!!
และในวันนี้ นางอังคณา ในฐานะครอบครัวสมชาย นีละไพจิตร ได้ออกแถลงการณ์ 14 ปี ไร้ซึ่งความยุติธรรม ความว่า อันที่จริงหลังศาลฎีกายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวสมชาย นีละไพจิตร เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.58 ดิฉันตั้งใจว่าจะเลิกทวงถามการดำเนินการติดตามหาตัวทนายสมชายจากรัฐ แต่ในฐานะพลเมืองที่ถูกละเมิดสิทธิ ดิฉันจะเฝ้ามองการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของรัฐในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่สมชายและครอบครัว
ดิฉันรู้สึกผิดหวังและเสียใจอย่างยิ่งเมื่อปีที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีหนังสือถึงครอบครัวเพื่อแจ้งงดการสอบสวนคดีสมชาย หลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีการฆาตกรรมสมชายเป็นคดีพิเศษ และใช้เวลาในการสืบสวนสอบสวนยาวนานถึง 12 ปี โดยหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งครอบครัวให้ทราบด้วยข้อความเพียงสั้นๆเพียงว่า "การสอบสวนคดีสมชายได้เสร็จสิ้นแล้ว โดย กรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรงดการสอบสวนเนื่องจากไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด" พูดง่ายๆคือ เมื่อหาคนผิดไม่ได้ก็จบๆไป
ดิฉันเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการคลี่คลายคดีอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญ รัฐบาลต้องมีเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ต้องมีเจตนาที่แน่วแน่มั่นคงในการที่จะไม่ปกป้องผู้กระทำผิด สำหรับคดีสมชาย นีละไพจิตร ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วว่า ดิฉันเฝ้าติดตามคดีโดยตลอดว่ารัฐจะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวอย่างไร แต่ผ่านมา 14 ปี ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่ารัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลทหาร รัฐบาลคนดี หรือคนไม่ดี การอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายจากอาชญากรรมโดยรัฐไม่เคยเกิดขึ้นจริง และการงดเว้นโทษกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป
14 ปีการสูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร ได้แสดงให้เห็นถึงการแปรเปลี่ยนจากอาชญากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มาสู่ความความไม่เป็นธรรมจากการละเลยเพิกเฉยในการอำนวยความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมไทยบนพื้นฐานและการขาดเจตจำนงทางการเมืองเห็นได้จากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษงดการสอบสวนคดีสมชาย และสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่รับรองพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ....
ที่มา : ข่าวสด