เกิดอะไรขึ้นกับดราม่า ปังชา สรุปครบรวดเดียวจบ


เกิดอะไรขึ้นกับดราม่า ปังชา สรุปครบรวดเดียวจบ


จากดราม่าที่ร้าน ‘ลูกไก่ทอง' ประกาศผ่านโซเชียลมีเดียว่า แบรนด์จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า ‘ปังชา' ขนมปังเย็นรสชาไทย นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมากมาย

บางคนสงสัยว่าทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ เมนูปังเย็นชาไทยจะยังทำขายได้อยู่ไหม ขณะที่บางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าร้านรวงเล็กๆ จะได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ เกิดอะไรขึ้นกับดราม่านี้ สรุปให้ฟังแล้วดังนี้

1. เรื่องราวเริ่มต้นจากร้านลูกไก่ทองโพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า ได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้าเมนู ‘ปังชา' ขนมหวานปังเย็นรสชาไทยเจ้าของรางวัลมิชลิน ไกด์ (Michelin Guide) ระดับโลก

โพสต์เดียวกันนั้นระบุข้อความด้วยว่า "ปังชาได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข"

2. โพสต์ดังกล่าวนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง ประชาชนตั้งคำถามว่าแบรนด์ทำแบบนี้ได้ด้วยหรอ ชวนให้คนเข้าใจผิดว่าอ้างสิทธิเหนือเมนูที่มีมานานแล้วอยู่หรือเปล่า ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าก็เริ่มกังวลและสับสนว่าจะยังขายปังเย็นรสชาไทยได้ไหม ตั้งชื่อนี้ได้อยู่หรือไม่ หรือต้องทำอย่างไรกับเมนูนี้ต่อไป

3. เมื่อเข้าไปดูเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่ามีการจดแจ้งลิขสิทธิ์จริง ดังนี้

- จดเครื่องหมายการค้า (trademark) ใต้ชื่อเครื่องหมาย "ปังชา ;ชาไทย ดังไกล ระดับโลก ;KAM ;FOUNDER OF PANG CHA, "G ;PANG CHA ;WORLD CLASS THAI TEA", และ "PANG CHA ;G" ซึ่งเป็นชื่อในโลโก้ของแบรนด์

-จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อคุ้มครองถ้วยไอศกรีม ลวดลายภาชนะ ไม่ให้ร้านอื่นๆ ใช้ถ้วยลักษณะเดียวกัน

4. ก่อนจะขยับไปประเด็นต่อไป ชวนมาเข้าใจความหมายของ ‘เครื่องหมายการค้า' ‘สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์' และ ‘ลิขสิทธิ์' กันก่อนว่าคืออะไร ซึ่งทางกรมทรัพย์สินทางปัญญา โพสต์อธิบายบนเฟซบุ๊กไว้ ดังนี้

-เครื่องหมายการค้า คือ ชื่อ ข้อความ โลโก้ ภาพ กลุ่มของสี หรือเสียง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ที่นำมาใช้เพื่อสร้างความจดจำของผู้บริโภคในการแยกแยะแบรนด์ต่างๆ

-สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ คือ การคุ้มครองรูปร่าง ลวดลาย หรือองค์ประกอบของสี เช่น รูปร่างของขนมที่มีลักษณะพิเศษ ลวดลายของกล่องบรรจุอาหาร

-ลิขสิทธิ์ คือ ความคุ้มครองทางกฎหมายที่ให้แก่เจ้าของผลงานที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เกิดขึ้นทันทีหลังมีการสร้างสรรค์ผลงาน ไม่ต้องจดทะเบียน เช่น งานวรรณกรรม ศิลปกรรม ภาพยนตร์ และตัวอย่างลิขสิทธิ์ในธุรกิจร้านอาหาร คือ ภาพถ่ายสินค้า รูปเล่มเมนูอาหาร ลวดลายภาพวาดบนภาชนะใส่อาหาร เป็นต้น

5. ฉะนั้น หากอธิบายง่ายๆ คือ ร้านลูกไก่ทอง 1) จดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์กับ ‘ถ้วยไอศกรีม' เพื่อคุ้มครองไม่ให้ร้านอื่นๆ ใช้ถ้วยไอศกรีม บิงซู น้ำแข็งไส ลักษณะเดียวกับที่จดทะเบียนไว้ และ 2) จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 3 รูป ซึ่งเป็นรูปที่มีลักษณะเป็นโลโก้ของร้าน ได้แก่ รูปผู้หญิงนั่งกับถ้วยไอศกรีม รูปวงรีสีดำ และรูปวงรีสีขาว

6. ด้านทนายพีรภัทร ฝอยทอง ออกมาโพสต์อธิบายว่า การจดทะเบียนคือการห้ามไม่ให้ทำรูปโลโก้ หรือเครื่องหมายการค้าตามที่ถูกจดไว้ เช่น รูปผู้หญิงนั่งกับถ้วยไอศกรีม หรือทำโลโก้แบบในภาพ เป็นต้น

ทรายพีรภัทรอธิบายไว้ด้วยว่า "คำต่างๆ ไม่ว่าจะ PANG CHA, the Best Thai Tea ใครๆ ก็สามารถใช้ได้ ยิ่งคำว่า "ปังชา" ภาษาไทย ยิ่งใช้ได้เลย เพราะเค้าไม่ได้จดไว้กับสินค้าบริการประเภทนี้"

สอดคล้องกับที่ ‘ทนายนิด้า' ศรันยา หวังสุขเจริญ โพสต์บนเฟซบุ๊กว่า "ประชาชนทุกคนยังสามารถใช้คำว่า ‘ปังชา' ในการค้าขายสินค้าได้เช่นเดิม เจ้าของเครื่องหมายนี้จึงไม่มีสิทธิฟ้องประชาชนคนอื่นที่ใช้คำว่า ‘ปังชา' ได้"

7. ด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญาอธิบายเมื่อวานนี้ (29 สิงหาคม) ว่า การใช้คำว่า "...ปัง...ชา..." หรือ "...ปังชา..." กับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยยังทำต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ที่ชวนให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเน้นย้ำด้วยว่า ไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตร-อนุสิทธิบัตร และอ้างว่าเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวต่อเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยได้ เพราะมีขายมานานแล้ว ร้านลูกไก่ทองเพียงจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ภาชนะที่ใส่ปังชาเท่านั้น

"สรุป เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ใครก็ขายได้ เพียงแต่อย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต" กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุ

8. ดูเหมือนจะคลี่คลายแล้ว แต่ประเด็นนี้ดันไม่จบลงง่ายๆ เพราะมีเจ้าของร้านขนมปังปิ้งเล็กๆ ชื่อ ‘ปังชา' ที่ จ.เชียงรายอ้างว่า โดนทนายส่งโนติสเรียกค่าเสียหาย 102 ล้านบาท และให้บรรเทาความเสียหายต่อบริษัทด้วย

ซึ่งก็ชวนคนตั้งคำถามอีกว่า จดเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรมีอำนาจเรียกค่าเสียหาย 102 ล้านบาทได้หรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ เจ้าของร้านที่ จ.เชียงราย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนด้วยว่า เปิดร้านมาตั้งแต่ปี 2564 ยืนยันว่าไม่มีเจตนารมณ์ลอกเลียนแบบใคร และไม่ได้ขายน้ำแข็งไสด้วย

9. ล่าสุด ร้านลูกไก่ทองโพสต์ชี้แจงและขอโทษต่อประเด็นที่เกิดขึ้น โดยเนื้อหาระบุว่า ขออภัยที่สื่อสารและทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน น้อมรับทุกคำติชม และจะปรับปรุงพัฒนาต่อไป แต่ไม่ปรากฎข้อความชี้แจงถึงกรณีที่มีคนอ้างว่าถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายแต่อย่างใด

10. ประเด็นดราม่านี้จะจบลงยังไงก็ยังไม่อาจทราบได้ แต่ที่มั่นใจได้แน่ๆ แล้วก็คือ ใครก็ขายปังเย็นรสชาไทยได้นะ เพียงแค่อย่าใช้ภาชนะที่ถูกจดสิทธิบัตรไว้เท่านั้น

เครดิตแหล่งข้อมูล : thematter


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์