ปลื้มปิติ!!ครัวของแม่หลวง ผลิตอาหาร สร้างงาน เสริมความรู้

ปลื้มปิติ!!ครัวของแม่หลวง ผลิตอาหาร สร้างงาน เสริมความรู้


"พระองค์ทรงเป็นพระราชินีที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ไม่มีสักวันที่ทรงไม่คิดถึงประชาชน พระองค์รักประชาชน รักประเทศไทย รักศิลปวัฒนธรรมไทย ดิฉันไม่ได้เข้าเฝ้าฯ ทุกวัน แต่วันไหนที่เฝ้าฯ ก็จะเห็นว่าไม่มีสักวันที่ไม่ตรัสเรื่องประชาชน วันไหนทอดพระเนตรทีวีหรือเปิดหนังสือพิมพ์มาเจอข่าวเด็กถูกทิ้ง ก็ทรงมีรับสั่งให้ติดต่อ ให้ความช่วยเหลือ เห็นข่าวน้ำท่วม ไถลลงมาทั้งบ้าน พระองค์ก็ให้ติดต่อไปว่าอยู่ยังไง ให้เอาเข้ามาโครงการฟาร์มตัวอย่าง จัดอาชีพให้เขาทำมาหากิน

"พระองค์ทรงคิดอยู่ตลอดเวลา ทรงไม่ได้สบายเลย ที่ปักษ์ใต้มีเหตุการณ์ความไม่สงบ พระองค์ก็ทรงห่วง ให้จัดหมู่บ้านขึ้นมา ให้ผู้หญิงที่สามีเสียชีวิตเข้ามารวมตัวอยู่ด้วยกัน ทำกินในหมู่บ้าน จะได้ไม่ต้องออกไปทำกินที่อื่น และจะได้อบอุ่น ทรงคิดวนอยู่กับเรื่องของประเทศ ประชาชน ทรงนึกถึงตลอดเวลา ทรงถาม ทรงตาม คนที่ออกไปทำงานต้องกลับมารายงานว่าเป็นยังไงบ้าง" หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กล่าวถึงความห่วงใยและพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีต่อประชาชนชาวไทย

ความห่วงใยและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทย ทรงแสดงออกผ่านโครงการพระราชดำริต่างๆ เราอาจจะคุ้นหูคุ้นตากันมากที่สุดกับ โครงการศิลปาชีพ ซึ่งเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีโครงการในพระราชดำริมากมายกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ทุกโครงการที่พระองค์มีพระราชดำริขึ้นมา มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการแก้ปัญหาและพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขของปวงประชาชนชาวไทย

หนึ่งโครงการตามพระราชดำริที่เห็นผลชัดเจนว่าเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากมายมหาศาลก็คือ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ ซึ่งมีจุดกำเนิดเนื่องมาจากการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ห่างไกลความเจริญ แล้วทรงเห็นว่าชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบาก และในหลายพื้นที่ที่พระองค์เสด็จฯ มีราษฎรมายื่นถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ หวังพึ่งพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์


ปลื้มปิติ!!ครัวของแม่หลวง ผลิตอาหาร สร้างงาน เสริมความรู้


ด้วยความห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ โดยมีวัตถุประสงค์หลักๆ คือ

1.เป็นแหล่งจ้างงานของชาวบ้านที่ยากจน

2.เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดสารพิษให้แก่ชุมชนนั้นๆ และชุมชนใกล้เคียง

3.เป็นแหล่งให้วิชาความรู้ในการประกอบอาชีพแก่ผู้ที่เข้ามาทำงาน โดยเป็นการเรียนรู้แบบ "Learning by Doing" เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถนำไปดำเนินการเองได้ในที่ดินของตนเอง

4.เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริและทรงมีรับสั่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงรีบรับสนอง เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2540 ฟาร์มตัวอย่างแห่งแรกที่เกิดขึ้น คือ ฟาร์มตัวอย่างฯ บ้านขุนแตะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

ในช่วงแรกๆ หน่วยงานราชการเข้าไปดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดหาสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก ถนน แหล่งน้ำ เมื่อสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานพร้อมแล้ว ต่อมาจึงสนับสนุนกิจกรรมภายในโครงการ เช่น ปลูกพืชผัก พันธุ์ไม้ผลชนิดต่างๆ การเลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ หมู ปลา เป็นต้น


ปลื้มปิติ!!ครัวของแม่หลวง ผลิตอาหาร สร้างงาน เสริมความรู้

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการอนุรักษ์สภาพป่าต้นน้ำลำธารธรรมชาติ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นแก่พื้นดินและป่าไม้

ความสำเร็จของโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริเป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการคือ ประชาชนมีรายได้จากการจ้างงานในโครงการ มีอาหารในพื้นที่ซึ่งราคาถูกและปลอดสารพิษ ได้รับความรู้ด้านการเกษตร ปศุสัตว์ รวมถึงการแปรรูปผลผลิต สามารถนำไปประยุกต์ใช้ประกอบอาชีพของตนเองได้

ปัจจุบันมีโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ เกิดขึ้นทั่วประเทศ 56 แห่ง อยู่ในภาคเหนือ 4 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง ภาคใต้ 27 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 แห่ง

โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมในฟาร์ม

กรมชลประทาน ดูแลเรื่องการจัดหา ส่งน้ำเข้าโครงการ กรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการปลูกพืชและการแปรรูปผลผลิตที่ได้จากฟาร์ม กรมประมง ส่งเสริมและสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมปศุสัตว์ เรื่องการเลี้ยงสัตว์บกและสัตว์ปีก กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เข้าไปอบรมการทำบัญชี เป็นต้น


ปลื้มปิติ!!ครัวของแม่หลวง ผลิตอาหาร สร้างงาน เสริมความรู้

นายสงกรานต์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะหน่วยงานสำคัญหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการเข้าไปร่วมขับเคลื่อนโครงการฟาร์มตัวอย่าง และเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่เกษตรทั่วประเทศซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เล่าให้เห็นภาพว่า รูปแบบโครงการฟาร์มตัวอย่างฯเป็นเหมือนวิสาหกิจชุมชน มีระบบสมาชิก มีการจ้างงาน รวมตัวกันทำการเกษตรแล้วนำผลผลิตไปขาย แต่ละฟาร์มมีผู้จัดการเป็นคนดูแลภาพรวม ซึ่งเป็นคนที่สมาชิกฟาร์มคัดเลือกกันมาเป็นตัวแทน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการ ประสานงานกับข้าราชการ และสื่อสารกับตลาด

เป้าหมายและกิจกรรมของแต่ละฟาร์มแตกต่างกันไปตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ ในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด แต่ละภาค มีภูมิประเทศต่างกัน วัฒนธรรม ประเพณีต่างกัน ความต้องการในพื้นที่ก็ต่างกันไป กิจกรรมที่ทำจึงมาจากคนในพื้นที่เสนอกันขึ้นมาว่าขาดเหลืออะไร ต้องการอะไร อยากทำอะไร

ส่วนราชการจะเข้าไปอบรมผู้จัดการฟาร์มและสมาชิกระดับแกนนำ โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนตามภารกิจ กรมประมงสนับสนุนเรื่องการเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมปศุสัตว์สนับสนุนการเลี้ยงสัตว์บกและสัตว์ปีก การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) และวิทยาลัยเกษตรเข้ามาช่วยเรื่องการศึกษา เป็นโครงการที่ทุกส่วนราชการมาร่วมมือกัน

"ความสำเร็จของโครงการที่เห็น คือ ชาวบ้านมีอยู่มีกิน มีรายได้ และมีองค์ความรู้ ข้อดีของฟาร์มตัวอย่างฯก็คือ เป็นแหล่งเรียนรู้ ทุกคนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกหรือไม่ ใครจะเข้ามาท่องเที่ยวชมงานเฉยๆ หรือเข้ามาเพื่อเรียนรู้ปฏิบัติก็ต้อนรับทั้งหมด ผลผลิตรวมกลุ่มกันจำหน่าย มีการทำบัญชี มีรายได้จากผลผลิตที่ทำ ที่สำคัญคือเป็นแหล่งอาหาร ถ้าเกิดเหตุภัยพิบัติ เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด ก็ยังมีอาหารในพื้นที่ให้ดำรงชีพอยู่ได้"

"นอกจากโครงการฟาร์มตัวอย่างฯจะช่วยชาวบ้านให้มีอยู่มีกินแล้ว ยังเป็นแม่บทในการทำงานของข้าราชการด้วย เนื่องจากเป็นโครงการที่หน่วยงานมากมายต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน ประสานงานกัน เป็นตัวอย่างการบูรณาการที่ดี ทั้งระดับราชการและเกษตรกร เป็นจุดเริ่มต้นการบูรณาการ ก่อนที่จะมีการพูดเรื่องบูรณาการในตอนหลัง"


ปลื้มปิติ!!ครัวของแม่หลวง ผลิตอาหาร สร้างงาน เสริมความรู้

ในความรู้สึกของข้าราชการที่ทำงานในพื้นที่ รองอธิบดีสงกรานต์ซึ่งเคยทำงานโครงการฟาร์มตัวอย่างฯในพื้นที่จังหวัดยะลา บอกว่า "การทำงานไม่ง่ายเลย การเดินทางเข้าพื้นที่ยากลำบาก บางแห่งเป็นการทำงานในพื้นที่อันตราย แต่ทุกคนทำเพื่อรับใช้พระองค์ท่าน และเป็นการทำเพื่อตอบแทนสังคม ด้วยจิตสำนึกข้าราชการที่ดี ถ้าเรามีแรงบันดาลใจทำเพื่อสังคม สิ่งที่เราทำก็จะสำเร็จ

"พวกเราทำโดยที่พระองค์ไม่ต้องกำชับเลย เพียงแค่พระองค์ทรงมีพระราชดำริขึ้นมา เราเป็นข้าราชการ เราก็ต้องรับสนอง พระองค์ทรงมีข้อมูล และมีสิ่งที่พร้อมขับเคลื่อน ทุกคนรับสนองงานในพระราชดำริ และส่งต่อรุ่นต่อรุ่น เป็นการสนองงานที่พวกเราภาคภูมิใจ ตั้งแต่เกษตรตำบล อำเภอ จังหวัด ทั้งกรมเราทำกันด้วยหัวใจจริงๆ ส่วนราชการทุกส่วนก็ทำกันเต็มที่ ไม่ได้คิดว่าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นโครงการที่มีความสำเร็จด้วยแรงใจ แรงศรัทธา"

"สำหรับความห่วงใยและความใส่พระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีต่อราษฎรนั้นมีอยู่ไม่เคยขาด พระองค์มิได้มีพระราชดำริให้ทำโครงการแล้วจบไป แต่พระองค์ทรงติดตามความคืบหน้าการทำงาน และเสด็จลงพื้นที่เยี่ยมเยียนโครงการอยู่เสมอ

"พระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยมโครงการบ่อย และทรงดูผลผลิตอย่างละเอียด ดูด้วยความรู้สึก ทรงให้คำแนะนำอย่างละเอียด ทรงพิถีพิถัน ให้คำแนะนำ เอาใจใส่ ชี้แนะด้วยความสุข พอพระองค์เสด็จฯไปทรงเยี่ยม ความเหนื่อยของคนทำงานก็หายไป มีแต่ความปลื้มปีติที่พระองค์ทอดพระเนตรผลงานของเรา และความภูมิใจในตอนนั้น ยังเป็นกำลังใจในการทำงานมาจนถึงทุกวันนี้" นายสงกรานต์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวด้วยความซาบซึ้งปีติ

ในส่วนประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากการมีโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ นายประคอง โลพะกูล ชาวบ้านใน ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งได้เข้าร่วมฝึกอบรมการเลี้ยงผึ้งในโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ บอกว่า การมีโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ มีประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง


ปลื้มปิติ!!ครัวของแม่หลวง ผลิตอาหาร สร้างงาน เสริมความรู้

"ผมทำอาชีพกรีดยาง แล้วเข้าร่วมอบรมเลี้ยงผึ้ง เพราะสนใจจะทำเป็นอาชีพเสริม ปีล่าสุดเลี้ยงผึ้งได้ผลผลิตน้ำผึ้ง 120 ขวด ขายได้เงินประมาณ 60,000 บาท ในช่วงปัจจุบันที่ยังกรีดยางไม่ได้และราคายางไม่ดี รายได้ที่ได้จากการเลี้ยงผึ้งมาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวและส่งเสียลูกเรียนหนังสือ"

ในภาพรวมของโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ นายประคองแสดงความเห็นว่า เป็นโครงการที่ดี ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นโครงการที่เอาความต้องการของชาวบ้านเป็นที่ตั้ง อยากทำอะไร ต้องการอะไรก็เสนอกันไป แล้วส่วนราชการจะจัดเจ้าหน้าที่เข้ามาฝึกอบรมให้ ไม่ใช่ว่าทางราชการจัดหาอะไรมาให้ก็ได้ ในระยะแรกที่มีกิจกรรมการอบรม คนที่เข้าร่วมอาจจะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ จะมีเฉพาะคนที่สนใจจริงๆ เข้าร่วม แต่เมื่อคนที่เข้าอบรมนำองค์ความรู้ที่ได้ออกมาทำจนสำเร็จแล้ว จะมีคนอื่นๆ สนใจ และมีการถ่ายทอดความรู้กันไปเป็นทอดๆ

"โครงการที่ให้ความรู้ ให้วิชาทำมาหากินแบบนี้เป็นโครงการที่ดีมากๆ สำหรับประชาชน ผมคิดว่าการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริให้ทำโครงการฟาร์มตัวอย่างฯ เป็นมากกว่าบุญคุณ เป็นน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ ประเมินค่าไม่ได้" นายประคองกล่าว

นี่เป็นเพียงตัวอย่างความรู้สึกของข้าราชการคนทำงานสนองพระราชดำริ และประชาชนหนึ่งคนที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการตามพระราชดำริของพระองค์ นอกเหนือจากนี้ยังมีประชาชนที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อยู่ทั่วประเทศ ถ้าจะให้ทุกคนพูดถึงความรู้สึกที่มีต่อพระองค์คาดว่าใช้กระดาษทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทยคงไม่เพียงพอสำหรับการตีพิมพ์


ปลื้มปิติ!!ครัวของแม่หลวง ผลิตอาหาร สร้างงาน เสริมความรู้


ปลื้มปิติ!!ครัวของแม่หลวง ผลิตอาหาร สร้างงาน เสริมความรู้


ปลื้มปิติ!!ครัวของแม่หลวง ผลิตอาหาร สร้างงาน เสริมความรู้


ปลื้มปิติ!!ครัวของแม่หลวง ผลิตอาหาร สร้างงาน เสริมความรู้


ปลื้มปิติ!!ครัวของแม่หลวง ผลิตอาหาร สร้างงาน เสริมความรู้


Cr.matichon

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์