การเริ่มการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” ต่อท้ายพระนามพระมหากษัตริย์นั้นสันนิษฐานว่าเริ่มมีขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ประมาณรัชกาลที่ ๔ หรือ ๕ เนื่องจาก เป็นสมัยที่เริ่มมีการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของชาติและบรรพบุรุษมากขึ้น ทำให้ประจักษ์ถึงวีรกรรมและพระราชอัจฉริยภาพของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นๆ จึงได้มีการยกย่องพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่ทรงมีพระเกียรติคุณเด่นกว่า พระองค์อื่นขึ้นเป็น มหาราช ในเรื่องของการริเริ่มถวายพระราชสมัญญามหาราชต่อท้ายพระนามพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่างๆ นั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ดังนี้
๗ พระมหากษัตริย์ ของปวงชนชาวไทย ที่ได้รับการยกย่องเป็น มหาราช
๑. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรือง ให้แก่อาณาจักรสุโขทัย ทรงขยายอาณาจักรให้กว้างขวาง ปกครองประชาราษฎร์ ให้ได้รับความสุข ยุติธรรมเสมือน“พ่อปกครองลูก” ทรงส่งเสริมการค้าโดยเสรี ทรงริเริ่มประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เอง เมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๖ นับเป็นต้นกำเนิดอักษรไทยที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้ และทรงรับเอาพระพุทธศาสนาจากลังกาเข้ามา เป็นศาสนาประจำชาติไทย
๒. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ในการปกครองประเทศ ทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ทรงติดต่อเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ทรงติดต่อการค้ากับชาวต่างชาติ และเมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ก็ทรงแก้ไขด้วยความเฉลียวฉลาด ทรงพระปรีชาในด้านกวี และทรงส่งเสริมการกวี จนเป็นเหตุให้เกิดมีกวีที่มีชื่อเสียงหลายคน มีวรรณคดีเกิดขึ้นหลายเล่ม นับเป็นยุคทองแห่งวรรณคดีไทย
๓. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย ภายหลังที่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ในรัชสมัยของพระองค์ ทรงทำการศึกสงคราม และเอาชนะข้าศึกหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญที่สุดคือ ใน พ.ศ. 2135 พระมหาอุปราชาของพม่าได้ยกทัพมาตีไทย พระองค์ทรงชนช้างกระทำยุทธหัตถี และทรงฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ตั้งแต่นั้นมาพม่าก็เกรงกลัว เลิกยกทัพมารุกรานไทยอีก
๔. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
หรืออีกพระนามหนึ่งว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 และสร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ของไทย ทรงปราบปรามผู้ก่อตั้งชุมนุมต่างๆ จนราบคาบ และรวบรวมประเทศชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทรงกระทำสงครามจนได้รับชัยชนะ ขยายอาณาเขตประเทศออกไปอย่างกว้างขวาง
๕. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชา เป็นที่รักยิ่งของประชาชน ทรงนำประเทศชาติรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจหลายครั้ง จนประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเซียเฉียงใต้ ที่รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น ทรงปรับปรุงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ ทรงโปรดให้เลิกทาส ให้มีการรถไฟ การไปรษณีย์ การไฟฟ้าและการประปาขึ้นเป็นครั้งแรก
๖.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ทรงสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีของไทย ทรงกระทำศึกสงครามกับพม่าหลายครั้ง ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ทรงสร้างปราสาทราชวัง ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเวียงจันทร์ สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวัดอื่นๆ ทรงรื้อฟื้นสังคยานาพระไตรปิฎก รวบรวมกฎหมายตราสามดวง และโปรดให้แต่งบทละครต่างๆ ขึ้นแทนของเก่าที่ถูกพม่าเผาทำลาย
๗. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช
พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปรียบเสมือน “พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย” ทรงพระปรีชาสามารถในทุกแขนงวิชา ทรงรักและห่วงใยพสกนิกร และแก้ไขปัญหาต่างๆ ทรงริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิต่างๆ ทรงค้นคว้า วิจัย การทำฝนเทียม ด้านการเกษตร การชลประทาน การสาธารณสุข และอื่นๆอีกมากมาย ทรงส่งเสริมความรักและสามัคคีให้เกิดในชาติ ทรงดูแลทุกข์สุขประชาชน ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงงานหนักมากที่สุดของโลก