ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เหตุใดพระองค์ไม่ค่อยเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ แม้กระทั่งทรงพระประชวร ทั้ง ๆ ที่คณะแพทย์ลงความเห็นว่า ควรเสด็จเพื่อรักษาพระอาการในประเทศแถบตะวันตกที่มีเทคโนโลยีดีกว่าเมืองไทย แต่พระองค์ทรงปฎิเสธ
เรื่องนี้ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์เล่าว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระประชวรหนัก น่าจะปี พ.ศ. 2525 ตอนนั้น คณะแพทย์ลงความเห็นว่า ต้องเสด็จพระราชดำเนินรักษาพระอาการที่ต่างประเทศ แต่พระองค์ทรงปฎิเสธ และไม่มีใครรู้ว่า ทำไมพระองค์ไม่เสด็จต่างประเทศ
"พระองค์มีพระราชดำริว่า ถ้าทรงทำอะไรไม่ได้ พระองค์ก็จะรักษาพระองค์เอง"
ตอนนั้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายกตรัสว่า
ช่วงที่หมอไม่รู้จะรักษายังไงเกี่ยวกับพระราชหฤทัย ช่วงนั้นก็เลยใช้วิธีเปิดเทปเทศน์กรรมฐานเมื่อพระองค์บรรทมฟัง พอฟังไปสักพัก พระอาการก็ดีขึ้น ซึ่งหมอก็งง
และมีอีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคลตรัสกับอาตมาว่า อยากให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสังเวชนียสถาน เพราะพระองค์เป็นพุทธมามกะ และไม่เคยเสด็จไปที่นั่นเลย กราบทูลหลายครั้ง
ซึ่งตอนนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสว่า ความจริงแล้วอยากเสด็จสังเวชนียสถานมาก แต่ว่าติดสัญญาณใจ ตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่า...
"ตราบใดที่คนไทยทุกคนยังไม่มีความสุข พระองค์จะไม่เสด็จต่างประเทศ"
ตอนนั้นพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล ตรัสกับอาตมาว่า ท่านก็อึ้งกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในคราวนั้น และได้ทูลถามพระองค์ว่า "แล้วพระองค์ทรงเอาอะไรเป็นเกณฑ์ว่า คนไทยไม่มีความสุข เพราะประเทศไทยก็เจริญขนาดนี้แล้ว"
พระองค์ตรัสว่า... "ไม่รู้เหมือนกัน ... แต่ในพระราชหฤทัยรู้สึกว่า คนไทยยังไม่มีความสุข"
และเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว คนไทยจะทำอย่างไรให้พระองค์วางพระราชหฤทัย พระศากยวงศ์วิสุทธิ์กล่าวว่า ต้องทำตัวของเราให้มีความสงบและความสุข เมื่อนั้นแหละพระองค์ก็จะทรงสามารถหลับพระเนตรได้
"สิ่งที่อาตมาอยากเตือนสติพวกเรา ก็คือ เราจะทำยังไงน้อมนำพระราชดำรัสมาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ดูว่า โครงการพระราชดำริมีจำนวนเท่าไร
ถ้าเราจะเข้าใจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็ต้องไปดูสิว่า ก่อนที่จะมีโครงการพระราชดำริแต่ละอัน มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมรัฐแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ บางทีรัฐก็บอกว่า เป็นปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ของท้องถิ่น แต่พระองค์ไม่เคยตรัสว่า ทำไมหน่วยงานนี้ไม่ทำ พระองค์ไม่ได้สนใจ
ถ้าอย่างนั้นคนไทยต้องเตือนตัวเองว่า.. เราทำตัวสมกับเป็นลูกที่พระองค์ไว้วางพระราชหฤทัยหรือเปล่า สิ่งที่พระองค์ทรงทำ ไม่ได้เพื่อสถาบัน ไม่ได้เพื่อพระองค์เอง"
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์เล่า และตบท้ายว่า.. "การแสดงออกจากการร้องไห้ หรือการถวายดอกไม้ ก็ใช่ ... นั่นเป็นสัญลักษณ์การแสดงความอาลัย แต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ที่แสดงถึงจงรักภักดีต่อพระองค์ ก็คือ จงเป็นส่วนหนึ่งของการทำชีวิตของเราให้มีความสุข ความเจริญ
หมายเหตุ : ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะไม่เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอีกเลย เมื่อวันที่ 21-24 มิถุนาย พ.ศ. 2510 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศแคนาดา หลังจากนั้นว่างเว้นอีกนาน และเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศลาว เมื่อวันที่ 8-9 มีนาคม พ.ศ. 2537 ซึ่งถือว่า เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเป็นครั้งสุดท้าย