จากกรณีนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อายุ 54 ปี อดีตข้าราชการครูที่ตกเป็นผู้ต้องคดีถูกศาลพิพากษาตัดสินให้จำคุก 3 ปี 2 เดือน ในคดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิตที่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม เมื่อปี 48 และได้รับอภัยโทษเมื่อปี 58 รวมติดคุก 1 ปี 6 เดือน ต่อมาร้องไปยังกระทรวงยุติธรรมและดีเอสไอให้รื้อคดีขึ้นมาไต่สวนใหม่ ในวันที่ 16 ม.ค.นี้ เนื่องจากเจ้าตัวที่ถูกดำเนินคดียืนยันว่าเป็นแพะรับบาปของคดีนี้ แม้จะพ้นโทษมาแล้วแต่สังคมรอบข้างและเพื่อนร่วมงานยังตราหน้าว่าเป็นฆาตกร ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการรื้อฟื้นคดีอาญาของนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อายุ 54 ปี อดีตข้าราชการครูโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สกลนคร ภายหลังถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 ปี 2 เดือน ในคดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต เหตุเกิดเมื่อปี 2548 ว่า ขณะนี้ทราบมาว่าศาลอุทธรณ์ภาค4 มีคำสั่งให้มีการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาใหม่โดยศาลจังหวัดนครพนมซึ่งเป็นศาลชั้นต้นนัดสอบคำให้การคดีในวันที่ 16 มกราคม 60 โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นไปตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ คือเมื่อศาลรับคำร้องเเล้ว ให้ศาลเเจ้งวันนัดสืบพยาน นางจอมทรัพย์ผู้ร้องไปให้พนักงานอัยการ เเละโจทก์ในคดีเดิมที่มีการขอรื้อฟื้นคดีทราบ โดยอัยการเเละโจทก์ มีสิทธิ์ยื่นคำคัดค้านได้ก่อนวันนัดสืบพยาน หลังจากนั้นเเละเมื่อมีการนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานเเล้วศาลจะให้มีการสืบพยานฝ่ายนางจอมทรัพย์จำเลย ซึ่งเป็นผู้ร้องขอรื้อฟื้นคดีก่อน ที่จะมีการสืบพยานฝ่ายอัยการเเละโจทก์
ส่วนของคดีนี้ซึ่งเป็นคดีที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาเด็ดขาดมาเเล้ว หากมีการสืบพยานคู่ความทั้งสองเสร็จสิ้น ศาลจังหวัดนครพนมซึ่งเป็นศาลชั้นต้น จะต้องส่งสำนวนบันทึกการพิจารณาสืบพยานคดีในศาลไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณามีคำพิพากษาชี้ขาดต่อไป
นายอธิคม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการรื้อฟื้นคดีถือว่าสามารถเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะข้อกำหนดในการรื้อฟื้นคดีจะคล้ายกับคดีในศาลฎีกาฯนักการเมือง ที่ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนเเละพยานหลักฐานใหม่นั้นมีผลที่จะเปลี่ยนเเปลงคดี หรือพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ซึ่งในทางปฎิบัติโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก ที่ผ่านมาตนเห็นเพียงคดีหรือสองคดีเท่านั้น ที่ศาลมีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดีจนกลับคำพิพากษาเด็ดขาดของเดิมได้ เพราะหากพิสูจน์เเล้วว่าจำเลยคดีนี้ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ก็จะมีผลตามมาหลายอย่าง เช่น พยานที่สืบไปในตอนเเรกจนทำให้จำเลยต้องโทษคำพิพากษาจะมีความผิดอย่างไรบ้าง ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐจำเลยซึ่งเป็นผู้เสียหายก็สามารถดำเนินคดีเอาผิดในส่วนนี้ได้เช่นกัน
เมื่อถามว่า ในกรณีที่หากจำเลยโดนเรียกค่าเสียหายทางเเพ่งไปเเล้ว เมื่อคดีอาญารื้อฟื้นขึ้นมาใหม่จะสามารถรื้อฟื้นในส่วนเเพ่งได้ด้วยหรือไม่ นายอธิคม กล่าวว่า หากเมื่อมีการรื้อฟื้นคดีเเล้วศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยไม่มีความผิดก็สามารถรื้อฟื้นคดีได้ เพราะเมื่อไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดอาญาจึงไม่จำเป็นต้องรับผิดทางละเมิด
"ที่ผ่านมาผมเคยเห็นเพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น เฉพาะเเค่การเข้าเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.รื้อฟื้นคดีก็ยากมากเเล้ว นี่ก็มีการประสานว่าจะขอคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้มาอ่านดู ส่วนถ้ารื้อฟื้นสำเร็จ จำเลยก็ต้องได้รับการเยียวยา ซึ่งสมัยนี้จะเทียบเท่าการติดคุกเเทนค่าปรับคือวันละ 500 บาทเเละตามขั้นตอนก็สามารถใช้สิทธิดำเนินคดีตามกฎหมายได้อีก" นายอธิคม กล่าว