เพราะเจ้าคณะปกครองไม่ยอมทำหน้าที่ ดีเอสไอจึงยังไปไม่ถึงไหน
๓ มีนาคม ๒๕๖๐
เห็นข่าวดีเอสไอให้สัมภาษณ์ในแต่ละวันเหมือนกับกำลังเดินตามรอยตีนกบฏผีบุญอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าคอยแก้ปัญหาไปวันๆ ทั้งที่มีเครื่องไม้เครื่องมืออยู่รอบตัว แถมยังมีมาตรา ๔๔ อยู่ในมือ แทนที่จะออกคำสั่งขอความร่วมมือกับเจ้าคณะปกครอง ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรง ให้จัดการกับพวกอลัชชีกบฏผีบุญได้ตามหลักพระธรรมวินัยและ พรบ.คณะสงฆ์
โดยที่ดีเอสไอและเจ้าหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้ให้การสนับสนุนการทำงานของสำนักพุทธ มหาเถรสมาคม เจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้น โดยให้มีคำสั่งทางการปกครองสั่งการให้พวกนักบวชลิ่วล้อกบฏผีบุญอลัชชีทั้งหลาย ออกมามอบตัวหรือไม่ก็ให้เปิดทางให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นตามอำนาจหน้าที่
หากเจ้าคณะปกครองยอมปฏิบัติตามคำร้องขอก็ดีไป แต่หากเจ้าคณะปกครองยังมีพฤติกรรมไม่รับผิดชอบ เตะถ่วงหน่วงเหนี่ยว ประวิงเวลาให้ล่าช้า
ที่ดีเอสไอยังทำอะไรกับลัทธิกบฏผีบุญไม่ได้ ก็เพราะเจ้าคณะปกครองยังมิได้ทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ที่มี วันนี้พุทธะอิสระเลยต้องนำเอากฎมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าคณะปกครอง และโทษของผู้ไม่ทำหน้าที่มาลงให้ท่านทั้งหลายได้ศึกษา และหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ต่อดีเอสไอบ้าง ไม่มากก็น้อย
กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้กำหนดเอาไว้ในมาตรา
เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะตำบล มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตของตน ดังนี้
(๑) ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคมข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน
(๒) ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี
(๓) ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัย ข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชั้นเจ้าคณะอำเภอ
(๔) แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะอำเภอให้เป็นไปโดยชอบ
(๕) ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระ ภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรืออยู่ในเขตปกครองของตน และชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย
(๖) ตรวจการและประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองของตน
อีกทั้งยังมี พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ที่ว่าด้วยกระบวนการลงโทษแก่เจ้าคณะปกครองที่ไม่ยอมทำหน้าที่
หมวด ๔
นิคหกรรมและการสละสมณเพศ
มาตรา ๒๙ พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราวและเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้
หมวด ๕
วัดมาตรา ๓๘ เจ้าอาวาสมีอำนาจ ดังนี้
(๑) ห้ามบรรพชิต และคฤหัสถ์ซึ่งมิได้รับอนุญาตของเจ้าอาวาสเข้าไปอยู่อาศัยในวัด
(๒) สั่งให้บรรพชิต และคฤหัสถ์ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด
(๓) สั่งให้บรรพชิต และคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัด ทำงานภายในวัด หรือให้ทำทัณฑ์บนหรือให้ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาส ซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม
มาตรา ๓๙ ในกรณีที่ไม่มีเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าอาวาส
การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม
หมวด ๘
เบ็ดเตล็ด
มาตรา ๔๕ ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา
และเมื่อพระสังฆาธิการรูปใดไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช หรือคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน
เจ้าคณะปกครองแต่ละลำดับชั้นจักต้องมีคำสั่งทางการปกครอง ให้เอาผิดกับผู้ฝ่าฝืนคำสั่งดังที่กำหนดไว้ใน
กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ พ.ศ. ๒๕๔๑
ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ
ส่วนที่ ๓ การละเมิดจริยา
ข้อ ๕๔ พระสังฆาธิการรูปใดประพฤติละเมิดจริยา ต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
(๒) ปลดจากตำแหน่งหน้าที่
(๓) ตำหนิโทษ
(๔) ภาคทัณฑ์
ข้อ ๕๕ การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่นั้น จะทำได้ต่อเมื่อพระสังฆาธิการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง แม้ข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
(๑) ทุจริตต่อหน้าที่
(๒) ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเกินกว่า ๓๐ วัน
(๓) ขัดคำสั่งอันชอบด้วยการคณะสงฆ์ และการขัดคำสั่งนั้นเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
(๔) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
(๕) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดรายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อได้สอบสวนและได้ความจริงตามรายงานนั้นแล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งสั่งถอดถอนตำแหน่งหน้าที่ได้
ข้อ ๕๖ พระสังฆาธิการรูปใดต้องอธิกรณ์ หรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา และอยู่ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัยหรือมีกรณีต้องหากว่าละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง และอยู่ในระหว่างสอบสวน ถ้าผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดเห็นว่า จะให้คงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ในระหว่างพิจารณาหรือสอบสวน จะเป็นการเสียหายแก่การคณะสงฆ์ จะสั่งให้พักจากตำแหน่งหน้าที่ก็ได้
การให้พักจากตำแหน่งหน้าที่นั้น ให้พักตลอดเวลาที่พิจารณาหรือสอบสวน เมื่อพิจารณาหรือสอบสวนเสร็จแล้ว ถ้าปรากฏว่าพระสังฆาธิการที่ถูกสั่งให้พักนั้นไม่มีความผิด และไม่มีมลทินความผิดเลย ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งให้พักต้องสั่งให้พระสังฆาธิการรูปนั้นกลับดำรงตำแหน่งเดิม
เมื่อได้สั่งพักจากตำแหน่งหน้าที่นั้น หรือสั่งให้กลับดำรงตำแหน่งเดิมแล้ว ให้รายงานโดยลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง และจึงให้กรมการศาสนาทราบภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันสั่ง
แต่ถ้าปรากฏว่าถึงแม้การพิจารณาหรือสอบสวนจะไม่ได้ความสัตย์ว่าได้กระทำผิด แต่มีมลทินหรือมัวหมอง ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งพิจารณา ถ้าเห็นว่าจะให้กลับเข้ารับหน้าที่อีก อาจเสียหายแก่การคณะสงฆ์ ก็สั่งปลดจากตำแหน่งหน้าที่ได้
ข้อ ๕๗ พระสังฆาธิกรรูปใด ได้รับโทษฐานละเมิดจริยาตามข้อ ๕๔(๑) หรือ (๒) ต้องพ้นจากตำแหน่งพระสังฆาธิการทุกตำแหน่ง
ข้อ ๕๘ การตำหนิโทษนั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อพระสังฆาธิการรูปใดละเมิดจริยาซึ่งไม่ร้ายแรงถึงกับถอดถอนหรือปลดจากตำแหน่งหน้าที่ มีเหตุที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรปรานี ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งตำหนิโทษ โดยแสดงความผิดของพระสังฆาธิการรูปนั้นให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร และจะทำให้ทัณฑ์บนไว้ด้วยก็ได้
การตำหนิโทษเช่นนี้ ให้มีการกำหนดไม่เกิน ๓ ปี นับแต่วันสั่งลงโทษ แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่าพระสังฆาธิการรูปนั้นกลับปฏิบัติดีในทางการคณะสงฆ์พอควรแล้ว จะสั่งลบล้างการตำหนิโทษก่อนครบกำหนดก็ได้ หากในระหว่างกำหนดที่สั่งลงโทษไว้ พระสังฆาธิการรูปนั้นละเมิดจริยาในกรณีเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันซ้ำอีก ให้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง
ข้อ ๕๙ กรณีดังกล่าวแล้วในข้อ ๕๔ ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่ายังไม่ควรลงโทษถึงตำหนิโทษ ควรลงโทษเพียงภาคภัณฑ์ ก็ให้มีอำนาจลงโทษภาคทัณฑ์ได้ โดยแสดงความผิดของพระสังฆาธิการรูปนั้นให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร และจะให้ทำทัณฑ์บนไว้ด้วยก็ได้
การลงโทษภาคภัณฑ์นี้ ให้มีกำหนดไม่เกิน ๑ ปี นับแต่วันสั่งลงโทษ แต่เมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่าพระสังฆาธิการรูปนั้นกลับปฏิบัติดีในทางการคณะสงฆ์พอควรแล้ว จะสั่งลบล้างการภาคทัณฑ์ก่อนครบกำหนดก็ได้ หากในระหว่างกำหนดสั่งลงโทษไว้ พระสังฆาธิการรูปนั้นละเมิดจริยาอีกให้ลงโทษสถานอื่นถัดขึ้นไปตามควรแก่กรณี
ข้อ ๖๐ เมื่อได้มีการลงโทษตามข้อ ๕๘ หรือข้อ ๕๙ แล้ว ให้ผู้สั่งลงโทษรายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนทราบ
เมื่อเจ้าคณะปกครองได้ใช้อำนาจทางการปกครอง สั่งการโดยชอบด้วยหลักธรรมวินัย กฎหมายปกครองคณะสงฆ์แล้ว หากพวกสาวกลัทธิกลบฏผีบุญยังดื้อแพ่ง นั่นย่อมแสดงว่าคนพวกนี้ไม่ยอมรับฟังคำสั่งคณะสงฆ์ ไม่อยู่ในอำนาจการปกครองโดยชอบ
ให้เจ้าคณะปกครองประกาศตามหลักพระธรรมวินัยที่ได้บัญญัติไว้ชัดว่า ให้เจ้าคณะปกครองสงฆ์ประกาศขับออกจากหมู่ เรียกว่า ปัพพาชนียกรรม แปลว่า กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันพึงจะไล่เสีย, การขับออกจากหมู่, การไล่ออกจากวัด
กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลและประพฤติเลวทรามเป็นข่าวเซ็งแซ่
หรือแก่ ภิกษุผู้เล่นคะนอง ๑ อนาจาร ๑ ลบล้างพระบัญญัติ ๑ มิจฉาชีพ ๑
เท่านี้ก็ถือว่าเป็นการเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกับลัทธิกบฏผีบุญได้อย่างเต็มที่ตามกฎหมาย ซึ่งข้อหาแรกเลยที่ควรจักกล่าวหาก็คือ แต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ตามปะมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘
"ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวชในศาสนาใด โดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
ทีนี้ความชอบธรรมของพวกกบฏผีบุญก็จะหมดสิ้นไปในสายตาชาวพุทธทั่วโลกแล้ว
พุทธะอิสระจึงเรียนมาเพื่อพิจารณา เช่นนี้ ดีเอสไอก็นั่งบนภู ดูเจ้าคณะปกครองเขาหัดทำงานบ้าง
พุทธะอิสระ