อาจารย์หมอ แนะวิธีการดำรงชีวิตในเดือนพฤษภาคม สู้โควิด-19
ทางด้าน "รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อแนะนำในการดำรงชีวิตในเดือนพฤษภาคม ที่จะถึงนี้ไว้ว่า
ผู้สูงอายุ: เน้นอยู่ที่บ้านเป็นหลัก หากจะยืดเส้นยืดสายก็ออกกำลังกายในบ้านหรือรอบบ้าน ออกนอกบ้านยามจำเป็น ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ หลายคนมีปัญหาได้ยินไม่ค่อยชัด พยายามอย่าอยู่ใกล้คนอื่น พูดเสียงดังๆหรือตะโกนจะดีกว่าเสี่ยงติดเชื้อตอนไปคุยใกล้ๆ ระวังเรื่องความเหงาหรือเศร้า ลูกหลานควรโทรหาหรือผู้สูงอายุโทรหาลูกหลานผลัดกันไปให้คลายความคิดถึง
เด็กวัยเรียน: รัฐประกาศเปิดเทอมกรกฎาคม ก็ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เรียนรู้จากการอ่านหนังสือหลากหลายชนิด ดูทีวีหรือมือถือบ้างแต่อย่ามากนัก พ่อแม่อาจมอบหมายงานบางอย่างให้ทำสลับกันไป ออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายบ้างตามสมควร
คนทำงาน: เน้น work from home โดยนายจ้างควรสนับสนุนนโยบายนี้อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นเดือนที่เสี่ยงต่อการระบาดได้ หากรัฐประกาศปลดล็อคให้มีคนออกมาในสังคมมากขึ้นไม่มากก็น้อย โอกาสมีค่อนข้างสูง ดังนั้นถ้าที่ทำงานเราจัดการได้ ย่อมเป็นการป้องกันตัวเราได้ ขืนปล่อยให้มีคนเสี่ยงติดเชื้อ จะติดกันยกสำนักงานหรือทั้งแผนก ส่วนคนที่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงาน ไปเช้าหน่อยหรือสายหน่อยเพื่อเลี่ยงแออัดในขนส่งสาธารณะ หรือสลับเวลาทำงานโดยตกลงกับเพื่อนร่วมงานและนายจ้าง
อย่าลืมใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างๆ จากคนอื่น โดยควรฝึกสงสัยไว้เสมอว่าคนที่เราเจอทุกคนมีโอกาสมีเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว ขืนรับเชื้อมา จะแพร่ไปให้สมาชิกในครอบครัวและคนใกล้ชิดได้
บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล: ถ้ารัฐประกาศปลดล็อค กรุณาเปิดระบบดูแลรักษาผู้ป่วยโดยยึดแนวคิด "เตรียมรับมือสถานการณ์การระบาดซ้ำ"
ระบบดูแลรักษาโรคอื่นๆ ทั่วไป ควรเปิดทำการไม่เกิน 30-50% ไปก่อนอย่างน้อยอีก 1 เดือนหลังจากปลดล็อค เพื่อลดการแออัดของผู้ป่วยและญาติในโรงพยาบาล
การดูแลรักษาควรเน้นใช้ Tele ผ่านช่องทางต่างๆ ลด physical contact ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อจากกลุ่มคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ และลดการใช้ทรัพยากรพวกอุปกรณ์ป้องกันชนิดต่างๆ Practice universal precaution ไว้เสมอ ดูสถานการณ์ตอนนี้แล้ว คงเลี่ยงหรือยื้อลำบาก
ใครพอไหวก็ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด เก็บตัว เพื่อให้ปลอดภัย และเก็บแรงไว้สำหรับช่วยผู้อื่นยามเดือดร้อน สถานการณ์แบบที่เราเผชิญ ไม่มีโมเดลอะไรมาทำนายทายทักได้ แต่ต้องใช้ตรรกะแบบจะ take risk or minimize risk เพื่อแลกกับความปรารถนาที่อยากได้ระหว่างความปลอดภัยในชีวิตและรายได้เพื่อการดำรงชีพและพยุงเศรษฐกิจ ทั้งสองอย่างล้วนสำคัญทั้งคู่ แต่วิธีการทำนั้นเลือกได้
ถ้าเลือกถูก ก็ปลอดภัยและได้เงิน
ถ้าเลือกผิด ก็คุกคามต่อชีวิต เงินก็ไม่ได้ แถมเจ็บป่วยล้มตายมาก
เราทุกคนไม่ได้มีบทบาทในการเลือกในระดับประเทศ
แต่เราแต่ละคนสามารถเลือกแนวทางดำรงชีวิตสำหรับตัวเราได้ตามความจำเป็นและความเหมาะสม
สู้ๆ นะครับทุกคน
#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ
#StayHome #อยู่บ้านกันเยอะๆ
#ออกจากบ้านยามจำเป็น
#ใส่หน้ากากล้างมืออยู่ห่างๆคนอื่น
#ช่วยเหลือแบ่งปันแก่คนเดือดร้อนหากเรามี
#ดูแลตัวเองและครอบครัวให้ดีจะได้ปลอดภัยและเป็นแรงช่วยคนอื่นในสังคมยามฉุกเฉิน