‘หมอวรงค์’ ซัด! งานวิจัยฆ่าตัวตายช่วงโควิด หวั่นเครดิตเสื่อมเสีย
ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการแถลงผลการวิจัย โดย 7 อาจารย์ในโครงการวิจัย"คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง" เก็บข้อมูลการฆ่าตัวตายของประชาชนที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 21 เม.ย. 2563
ถ้อยแถลงกล่าวว่า มีจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายจากโควิด-19 เท่า ๆ กับจำนวนคนที่ตายจากการป่วยโรคโควิด-19 และเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลคนยากจนที่เดือดร้อน จากการปิดเมืองและการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล
การแถลงผลการวิจัยดังกล่าว ถูกนำไปสร้างกระแสโดยสื่อมวลชนที่ต้านรัฐบาล รวมทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน จากนั้นอีก 1-2วัน ก็มีกระแสเสียงจากนักวิชาการจำนวนมาก วิจารณ์รายงานดังกล่าว
"งานวิจัยนี้ดูหลวม ๆ นะครับ ถ้า X คือความล้มเหลวของรัฐ Y คือ การฆ่าตัวตาย การที่จะบอกว่า X เป็นเหตุของ Y ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ทุกครั้งที่ X เกิด Y ต้องเกิด และ ผลของ X ต่อ Y ต้องไม่ขึ้นกับตัวแปรอื่น ข้อมูลพวกนี้ไม่ได้วิเคราะห์ในงานวิจัย"
" อ่านแล้วสงสารวงการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ และ นศ. ที่ถูกคนกลุ่มนี้ผลิตออกไป อ่านแล้วจบกัน เสียเวลาอ่านมาก"
"เมื่อนักวิจัยเลือกเก็บข้อมูลสถิติการฆ่าตัวตายจากโควิด-19 จาก หนังสือพิมพ์/สถานีโทรทัศน์ที่ต้องการขายข่าว"
"ข้อมูลตลกมาก แบบเฝ้าระวัง ภาวะซึมเศร้าและการทำร้ายตนเอง: กรมสุขภาพจิต ของกระทรวงสาธารณสุข จะสรุป เดือนละครั้ง กว่าน้อง ๆ งานจิตเวชในพื้นที่จะสอบสวนสาเหตุได้ ต้องรอผ่านงานศพ ก่อน จึงจะหาเวลาสะดวกคุยกะญาติ ๆ ได้แล้วสรุปรายงานออกมา ....ข้อมูลแปลกมาก"
นี่คือเสียงสะท้อนที่แสดงความไม่น่าเชื่อถือ ต่อผลงานวิจัยของอาจารย์ระดับศาสตราจารน์ และดร. ทั้ง 7 ท่าน ประเด็นที่สังคมห่วงใยต่องานวิจัย จึงตกแก่หน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยคือสกสว.
"หากแต่ในส่วนของผลสำรวจข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ฆ่าตัวตายจากโควิด-19 นักวิจัยได้ดำเนินการเพิ่มเติมเองโดย สกสว.ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และโครงการไม่ได้ใช้ทุนจาก สกสว.แต่อย่างใด"
เท่ากับว่าอาจารย์ทั้ง 7 นำสิ่งที่ตนเองอยากแถลง ใช้โครงการวิจัยมาอ้างเอง โดยมีสื่อกับนักการเมืองไปช่วยขยายผล ทำแบบนี้เท่ากับกำลังนำเสรีภาพทางวิชาการไปตอบสนองการเมือง จะทำให้เครดิตอาจารย์เสื่อมได้ครับ น่าเป็นห่วง