ช่อ โผล่โพสต์ปลุกประชาชนล้มรธน. ลั่นพม่า -ไทย ใครจะทำสำเร็จก่อนกัน?
วันก่อนอ่านข่าวรัฐบาลซูจีขยับจะแก้รัฐธรรมนูญ เลยอดคิดไม่ได้ว่าเพื่อนบ้านอย่างเมียนมากับไทยเรา กำลังสู้ในสมรภูมิที่ไม่ต่างกัน เจอความท้าทายเดียวกัน จนน่าศึกษาเพื่อเป็นแนวทางว่า แคมเปญแก้รัฐธรรมนูญของเราจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร
ความเหมือน-ความต่าง ระหว่างรัฐธรรมนูญไทย-เมียนมา
ไม่แน่ใจว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนบ้านมามากน้อยแค่ไหน แต่รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับของ 2 ประเทศ มีจุดร่วมกันหลายประการ ตั้งแต่ที่มา เนื้อหา และความยากในการแก้ไข
ที่มา>> รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของทั้งไทยและเมียนมา ร่างโดยรัฐบาลทหาร และสร้างความชอบธรรมผ่านการลงประชามติที่ไม่โปร่งใส
ในเมียนมา การลงประชามติเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากประเทศเผชิญภัยพิบัติร้ายแรงจากพายุไซโคลนนาร์กีส ประชาชนไม่พร้อมจะทำกิจกรรมการเมืองใดๆ มีเสียงเรียกร้องมากมายให้เลื่อนการประชามติไปก่อน รวมถึงการเรียกร้องจากเลขาธิการสหประชาชาติ แต่รัฐบาลไม่ยินยอม สุดท้ายรัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 92.4% โดยมีผู้ไปใช้สิทธิ์ 99% แน่นอนว่าเป็นตัวเลขที่อ้างโดยรัฐบาลทหารฝ่ายเดียว รัฐสภาสหรัฐฯลมติประณามการทำประชามติครั้งนี้ว่าไม่ชอบธรรม เนื่องจากผู้รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมากถูกปราบปรามและจับกุมคุมขัง และยังพบความผิดปกติมากมายในวันลงประชามติ
ในประเทศไทย ร่างรัฐธรรมนูญถูกจัดทำโดยคณะบุคคลที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร การรณรงค์เกิดขึ้นฝ่ายเดียวโดยรัฐบาล ฝ่ายคัดค้านการเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญถูกจับกุม สื่อถูกบังคับให้เซ็นเซอร์ตัวเอง เสี่ยงต้อการถูกลงโทษหากวิจารณ์เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ สุดท้ายรัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบในการลงประชามติด้วยคะแนนเสียง 61.35%
เนื้อหา>> ใจความสำคัญของเนื้อหารัฐธรรมนูญไทยและเมียนมา คือการสถาปนาอำนาจที่มาจากการแต่งตั้ง เหนืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง เมียนมากำหนดให้ที่นั่ง 1 ใน 4 ของสภามาจากการแต่งตั้งโดยกองทัพ และ 3 กระทรวงสำคัญด้านความมั่นคง คือกระทรวงกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน เป็นที่นั่งถาวรของนายทหารจากกองทัพ
รัฐธรรมนูญไทยล้ำหน้าไปกว่าเมียนมา โดยกำหนดให้ 1 ใน 3 ของรัฐสภามาจากการแต่งตั้ง นั่นก็คือ ส.ว. 250 คน ผู้มีอำนาจเต็มเท่าส.ส. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับยังเหมือนกันอีกอย่าง คือคนเขียนมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการให้เนื้อหารัฐธรรมนูญสกัดกั้นการเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองบางคนเป็นการเฉพาะ
ความยากในการแก้>> จุดแข็งที่สุดของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบจะเป็นไปไม่ได้ หากทหารไม่ยินยอม
รัฐธรรมนูญเมียนมาระบุว่าจะแก้ไขสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญได้ ต้องใช้เสียงเกิน 75% ของรัฐสภา ซึ่งหมายความว่าถ้าทหารไม่ยอมยกมือสนับสนุน การแก้ไขจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญไทย ที่ระบุว่าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องได้รับการรับรองจากเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา โดย 1 ใน 3 ของส.ว. และ 1 ใน 5 ของฝ่ายค้านต้องเห็นชอบด้วย เมื่อส.ว.ทั้งหมดต่างแสดงจุดยืนไปในทางเดียวกันตอนโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ การจะหวังให้เสียง 1 ใน 3 แตกออกมาโหวตหนุนแก้รัฐธรรมนูญ จึงแทบเป็นไปไม่ได้
แทบเป็นไปไม่ได้ ก็หมายความว่า ยังเป็นไปได้
การแก้รัฐธรรมนูญเป็นภารกิจที่เกือบเป็นไปไม่ได้ แต่หากไม่ทำ รัฐบาลจากการเลือกตั้งก็จะไม่สามารถได้มาซึ่งอำนาจในการบริหารประเทศอย่างสมบูรณ์ได้ ต้องงอนง้อพึ่งใบบุญกลไกสืบทอดอำนาจทหารตลอดไป
ด้วยเหตุนี้ พรรคอนาคตใหม่จึงยืนยันว่า แม้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่การแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นภารกิจที่เราทำต่อเนื่อง ทำในระยะยาว ทำไปเรื่อยๆจนกว่าจะประสบความสำเร็จ และจะสำเร็จได้ต้องอาศัยพลังมวลชนจากนอกสภาสนับสนุน เพราะกลไกในสภาถูกปิดล็อกไปแล้วโดยรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีทางอื่นนอกจากให้ประชาชนเจ้าของบ้าน ร่วมกันแสดงพลังกดดันให้สภาคลายล็อกให้ได้
พรรค NLD เองก็ใช้กลยุทธนี้ หลายปีที่ผ่านมาส.ส.ฝั่งรัฐบาลพยายามเสนอแก้รัฐธรรมนูญหลายครั้ง หลายมาตรา รวมถึงการลดโควต้าที่นั่งจากการแต่งตั้งของกองทัพเหลือ 15% จาก 25% แต่ก็ถูกส.ส.แต่งตั้งตีตกไป ล่าสุดจึงมีการใช้พลังมวลชนมาร่วมสนับสนุน ผ่านการรณรงค์อย่างสงบสันติ
เมื่อมาถึงสนามมวลชน ทหารเองก็แก้เกมด้วยการมีมวลชนของตัวเอง ออกมาต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ โดยทำในนามผู้รักชาติ ปกป้องศาสนา นี่เป็นเกมที่เราอาจจะได้เห็นในอนาคตอันใกล้ เมื่อการรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญในไทยเดินหน้าเต็มตัว
สำเร็จหรือไม่ไม่ใช่คำถาม ต้องถามว่า สำเร็จเมื่อไหร่
คำตอบคือนี่คือการวิ่งมาราธอน ใช้ความอดทนและมุ่งมั่นของเรา ประชาชน มีวิธีนี้วิธีเดียวที่จะปลดประเทศไทยจากพันธนาการที่คสช.ล่ามเราไว้ จะล้มรัฐธรรมนูญและรัฐบาลของประชาชน ใช้รถถังและเวลาชั่วอึดใจ แต่จะล้มรัฐธรรมนูญทหารด้วยมือเปล่าของคนธรรมดา ด้วยวิธีสันติ ใช้เวลาหลายปี
แต่เรารอได้ จนกว่าจะถึงวันที่ชัยชนะเป็นของประชาชน
Cr ภาพ: Rapal Freezaro