ทาสแมวร้อง! น้องเหมียวติดเอดส์แมวจากถ่ายเลือด รพ.สัตว์ปัดรับผิดชอบ
เจ้าของเฟซบีกรายนี้ให้รายละเอียดว่า เลี้ยงแมวหลายตัว และมีการรักษา ฉีดวัคซีนกับโรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว มาตลอด 6 ปี ส่วนแมวที่ป่วยชื่อว่าแคนดี้ อายุ 6 ขวบ เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่เรียกว่า ลูคีเมีย
แต่ลูคีเมียมี 2 ประเภท คือ ลูคีเมียที่เกิดจากไวรัส คือ การที่ไปติดจากแมวข้างนอก แต่แคนดี้เป็นแมวที่เลี้ยงในบ้าน เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เกิดจากร่างกายตัวเอง มันก็เลยไปฆ่าเซลล์เม็ดเลือดแดง พอไปฆ่าเซลล์เม็ดเลือดแดงเลือดก็ตก จึงต้องมีการถ่ายเลือด จึงมีการประกาศหาเลือด
และเมื่อได้เลือดปรากฏว่าทางโรงพยาบาลไม่ตรวจเอดส์แมวก่อนการถ่ายเลือดให้แคนดี้ ซึ่งหลังจากการถ่ายเลือด แคนดี้มีอาการดีขึ้นประมาณ 2-3 อาทิตย์ แต่หลังนั้นก็ทรุดลง จึงส่งแคนดี้ไปรักษาอีกโรงพยาบาลหนึ่ง ก่อนตรวจพบว่าแคนดี้เป็นเอดส์แมว
เธอเล่าว่าได้โทรกลับไปถามที่โรงพยาบาลเดิมว่า ได้มีการตรวจเอดส์แมวก่อนการถ่ายเลือดหรือไม่ ปรากฏว่าทางโรงพยาบาลยอมรับว่าไม่ได้มีการตรวจ จึงแจ้งให้ทางโรงพยาบาลโทรหาเจ้าของโดเนอร์ว่าให้เอาโดเนอร์มาตรวจว่าเป็นเอดส์แมวหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าโดเนอร์เป็นเอดส์แมว
จากนั้นเจ้าของเฟซบุ๊กรายนี้ ได้ทวงถามความรับผิดชอบจากโรงพยาบาล แต่อีกฝ่ายปัด อ้างว่าแคนดี้อาจจะไปติดโรคมาจากที่อื่น จึงรู้สึกไม่ดี และเตรียมหันไปพึ่งกระบวนการยุติธรรม ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้ทนายความยื่นเรื่องไปที่สัตวแพทยสภา
ส่วนอาการของเจ้าแคนดี้ ตอนนี้ แทบจะไม่เดินเลยเพราะไม่มีแรง "ไม่อยากให้เขาทำแบบนี้กับแมวตัวอื่นอีก เพราะมันเป็นภัยสังคม และจริงๆ แล้วเรื่องนี้มันเป็นมาตรฐานทั่วไปในการถ่ายเลือดหรือให้เลือด ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ ต้องมีการตรวจเชื้อก่อนอยู่แล้ว"
ทั้งนี้ สำหรับ "โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว" หรือ "โรคเอดส์แมว" เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลทำให้แมวมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ปกติแมวที่เป็นโรคเอดส์แมวนี้ ส่วนมากจะไม่แสดงอาการเจ็บป่วยและยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ แต่ว่าแมวเหล่านี้จะมีโอกาสที่จะพัฒนาการติดเชื้ออื่นๆหรือเป็นมะเร็งบางชนิดได้ด้วย
โรคเอดส์แมวนี้เกิดจาก Lenti virus ซึ่งถือเป็นไวรัสชนิดหนึ่งของกลุ่ม Retrovirus ที่จะใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีในการเจริญเติบโต ไวรัสนี้จะเคลื่อนที่ช้าและสามารถอยู่เฉยๆ ได้ในร่างกายก่อนที่ร่างกายจะแสดงอาการออกมาอีกทั้งไวรัสตัวนี้ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับโรคเอดส์คน หรือ human immunodeficiency virus (HIV) อีกด้วย
การติดเชื้อ FIV นี้ไม่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมแต่ว่าพันธุกรรมจะมีส่วนในเรื่องของความรุนแรงและความก้าวหน้าของโรค ทั้งนี้ แมวที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อ FIV ส่วนมากจะอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 ปี และพบในเพศผู้ได้บ่อยกว่า เนื่องจากแมวเพศผู้นั้นมีนิสัยที่จะก้าวร้าวกว่า และยังชอบเที่ยวนอกบ้านทำให้เพิ่มโอกาสในการสัมผัสกับเชื้อไวรัส