เพจดังไขข้อสงสัย หน่วยอรินทราชหรือหนุมานต่างกันอย่างไร
หลังจากจบประเด็นเหตุการณ์กราดยิงที่ห้าง เทอร์มินิล 21 จังหวัดนครราชสีมา ก็ดูเหมือนว่า หลายๆคนจะอยากทำความรู้จักกับ หน่วยอรินทราชเเละหน่วยหนุมาน เพราะพวกเขาเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นฮีโร่ในการช่วยเหลือเหตุการณ์ในครั้งนี้
ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Theerasak Rodphunchoo ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ หน่วยอรินทราชหรือหนุมานต่างกันอย่างไร โดยโพสต์ระบุข้อความว่า ....
จะขอสรุปหน่วยปฏิบัติการพิเศษของตำรวจคร่าวๆ ดังนี้นะครับ คิดซะว่าเล่าประวัติศาสตร์แต่ละหน่วยแล้วกันครับ
หน่วยปฏิบัติการพิเศษจะแบ่งภารกิจหลักเป็นหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย กับหน่วยสวาท
ในส่วนของหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย ภายหลังเหตุการณ์กลุ่มก่อการร้ายคอมมานโดญิฮัดยึดสายการบินการูด้าแอร์ไลน์มาลงที่สนามบินดอนเมือง ก่อนที่คอมมานโดอินโดนีเซีย ร่วมกับอากาศโยธินไทยปฏิบัติการชิงตัวประกันจากเครื่องบินได้สำเร็จ เหตุเกิดเดือน มี.ค. 2524
รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมองเห็นถึงภัยคุกคามของการก่อการร้าย จึงได้มีดำริจัดตั้งหน่วยก่อการร้ายขึ้นมาหลายหน่วย ในส่วนของกรมตำรวจ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน) มีการตั้งหน่วยอรินทราช 26 และหน่วยนเรศวร 261 (ทั้ง 2 หน่วยถือกำเนิดในปี 2526) ช่วงแรก หน่วยงานที่มาฝึกฝนและปูพื้นฐานให้ทั้ง 2 หน่วยคือ GSG9 หน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของสำนักงานตำรวจสหพันธรัฐเยอรมนี (เยอรมันตะวันตกในขณะนั้น)
หน่วยอรินทราช 26 ชื่อจริงคือ กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล เชี่ยวชาญภารกิจในเมือง ที่จริงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจของอรินทราชคือพื้นที่นครบาล (กทม.) แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาเข้าใจว่าเหตุการณ์รุนแรงมาก ต้องเรียกกำลังชั้นพระกาฬหลายหน่วย อีกทั้งอรินทราชยังเชียวชาญภารกิจในเมือง จึงถูกเรียกมาร่วมปฏิบัติภารกิจ
เครื่องแบบสนาม: ชุดสีน้ำเงิน
ภารกิจที่สำคัญ: มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นักศึกษาพม่ายึดสถานทูตพม่า ต.ค. 2542 แต่ไม่ได้เข้าปะทะเนื่องจากการเจรจาจบลงด้วยดี นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในภารกิจจับกุมสำคัญๆ ใน กทม. หลายภารกิจ ในช่วงที่ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ อรินทราชได้ทำหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายสำคัญหลายราย และยังได้รวมภารกิจส่งผู้ร้ายข้ามแดนหลายคดี ล่าสุดคือคดีกราดยิงที่โคราช
นเรศวร 261 ชื่อจริงคือ กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มีคำกล่าวว่าอรินอยู่เมือง นเรศวรอยู่ป่า ด้วยความที่เป็นหน่วยงานในสังกัดของ ตชด. นเรศวรจะถนัดพื้นที่ป่ามากกว่า รวมทั้งการโดดร่มที่เป็นจุดแข็งของตำรวจพลร่ม
เครื่องแบบสนาม: ลายพรางไทเกอร์ (ฟาติกเขียวล้วนของ ตชด. ก็ใส่ได้ แต่ส่วนมากจะใส่ในพิธีการมากกว่า เวลาปฏิบัติภารกิจจะใส่พรางไทเกอร์)
ภารกิจสำคัญ: มีส่วนร่วมในภารกิจก๊อดอาร์มี่ยึดโรงพยาบาลราชบุรี ม.ค. 2543 แต่ได้ปฏิบัติภารกิจเต็มตัวในอีก 10 เดือนต่อมา เมื่อเกิดเหตุนักโทษพม่าจับผู้คุมเป็นตัวประกันแล้วแหกคุกเรือนจำสมุทรสาครในเดือน พ.ย.2543 เมื่อรถคนร้ายมาถึงชายแดนกาญจนบุรีก็ถูกหน่วยนเรศวร 261 วิสามัญทั้งหมด นอกจากนี้ยังได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหลายภารกิจ ล่าสุดก็มีส่วนร่วมสำคัญในเหตุกราดยิงที่โคราช
ในส่วนของหน่วยสวาท กรมตำรวจลอสแอนเจลิส หรือ LAPD เป็นหน่วยแรกของโลกที่ก่อตั้งหน่วยสวาท (ย่อมาจาก Special Weapons and Tactics) เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษของตำรวจ ใช้รับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น คนร้ายกราดยิงไม่เลือกหน้า คนร้ายจับตัวประกัน คนร้ายอยู่ในพื้นที่ปิด มีความเสี่ยงสูง รวมถึงการก่อการร้าย หน่วยงานใกล้เคียงกับหน่วยสวาทของไทยประกอบด้วย
นปพ. ย่อมาจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ตามด้วยชื่อจังหวัดที่แต่ละ นปพ.สังกัด และที่ตัวภูธรภาค ก็จะมี นปพ.ภาค ด้วย ใช้ใยภารกิจที่เป็นภาพรวมของภูธรภาคนั้นๆ
นปพ.จังหวัด จะมีชื่อจริงคือ กองร้อยปฏิบัติการพิเศษ (ผู้บังคับกองร้อยเทียบเท่าสารวัตร) กองกำกับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัด...(ชื่อจังหวัด)
ส่วน นปพ.ภาค ชื่อจริงคือ กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค...(1-9 ในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยุบหน่วยงานไปแล้ว และโอนคืนตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี, ยะลา และนราธิวาสกลับคืนสู่ตำรวจภูธรภาค 9
เครื่องแบบสนาม: ชุดสีเขียว แต่บางภารกิจใช้ชุดสีน้ำเงิน เช่น การควบคุมฝูงชน (นปพ.ภูธรภาค 1 ชื่อเล่น หน่วยปราบไพรีอริศัตรูพ่าย เป็น นปพ.หน่วยเดียวที่มักจะใส่ชุดน้ำเงินบ่อยกว่าเขียว แต่ไม่เกี่ยวกับ นปพ.จังหวัดในสังกัดภูธรภาค 1 เช่น นปพ.ปทุมธานี, นนทบุรี, สระบุรี, อยุธยา, อ่างทอง ฯลฯ ก็ใส่ชุดเขียวเหมือน นปพ.ส่วนใหญ่
ภารกิจที่สำคัญ: ในยุคสงครามเย็น นปพ.หลายๆ จังหวัดมีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เช่น ในจังหวัดนครพนม ที่ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวช และ พล.ต.อ.อดุล แสงสิงแก้ว เคยสังกัด ในเหตุการณ์ก๊อดอาร์มี่ยึด รพ.ราชบุรี นปพ.ภาค 7 และ นปพ.ราชบุรีก็มีส่วนร่วม เช่นเดียวกับนักโทษพม่าแหกคุก นปพ.ภาค 7 และ นปพ.สมุทรสาครก็มีส่วนร่วม รวมถึงเหตุการณ์นักโทษเรือนจำเขาบินจับผู้คุมเป็นตัวประกัน นปพ.ราชบุรีร่วมปฏิบัติภารกิจด้วย ปัจจุบัน นปพ.สมุทรปราการมีส่วนร่วมในหลายภารกิจส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วน นปพ.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญหลายภารกิจ ในเหตุกราดยิงที่โคราช นปพ.ภาค 3 และ นปพ.โคราช ก็มีส่วนร่วม
สยบไพรีเป็นหน่วยสวาทของ บช.ปส. เน้นจับกุมผู้ต้องหาสำคัญในภารกิจคดียาเสพติดโดยเฉพาะ
เครื่องแบบสนาม: สีดำ (สมัยก่อนมีลายพรางออกเขียวน้ำตาล เดี๋ยวนี้ไม่เห็นแล้ว น่าจะเลิกใช้ไปแล้ว)
ภารกิจสำคัญ: ภารกิจจับยาเสพติดคดีสำคัญหลายคดี เช่น ไซซะนะ, เล่าต๋า ฯลฯ รวมถึงการส่งผู้ร้ายข้ามแดนคดียาเสพติดหลายคดี
ในส่วนของกองปราบขออธิบายคร่าวๆ ดังนี้
เดิมทีกองปราบมีหน่วยสวาทชื่อหน่วยสยบริปูสะท้าน มีชื่อจริงว่ากองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ต่อมาได้แยกตัวจากกองปราบแล้วขยายหน่วยเป็นกองบังคับการ (แต่ยังอยู่ในสังกัดของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง) ใช้ชื่อว่ากองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภ ในส่วนของกองบังคับการปราบปราม ได้ตั้ง กองกำกับการสนับสนุน ขึ้นมาทดแทน ต่อมาได้ตั้งชื่อเล่นหน่วยว่าหนุมาน ทหารเอกของพระราม (ตรงกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเป็นพระนารายณ์)
เครื่องแบบสนาม: หน่วยสยบริปูสะท้านเดิมใส่สีเขียว ต่อมาเมื่อ พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ขึ้นมาเป็นผู้กำกับ ได้เพิ่มชุดพรางมัลติแคมดำเพิ่มขึ้นอีกชุดหนึ่ง
กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภ ใส่ชุดพรางมัลติแคมดำ
หนุมาน ก่อนจะถูกตั้งชื่อว่าหนุมาน กองกำกับการสนับสนุนไม่มีเครื่องแบบชุดฝึก แต่นิยมสวมชุดสีดำล้วน สวมรองเท้าผ้าใบ กางเกง tactical สีดำ เสื้อยืดคอปกสีดำ หมวกแก๊ป แว่นกันแดด หมวกคลุมหัวไอ้โม่ง และเสื้อเกราะ ต่อมามีการออกแบบชุดฝึกสีเทา และมีการตั้งชื่อเล่นว่าหนุมาน ซึ่งมีสีกายใกล้เคียงกัน (แต่ในวรรณคดี หนุมานตัวสีขาว)
ภารกิจที่สำคัญ: สยบริปูสะท้านเดิมมีส่วนร่วมในภารกิจนักศึกษาพม่ายึดสถานทูตพม่า ก๊อดอาร์มี่ยึดโรงพยาบาลราชบุรี การบุกจับกุม พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ การส่งผู้ร้ายข้ามแดน บางภารกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการจับกุมคดีสำคัญของกองปราบ
กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภ นอกจากภารกิจถวายความปลอดภัยพระบรมวงศานุวงศ์แล้ว ยังส่วนร่วมสำคัญในภารกิจสืบหาคนร้ายปล้นทองที่โรบินสันลพบุรี และมีส่วนร่วมในเหตุกราดยิงที่โคราช
หนุมานกองปราบ มีภารกิจมากมายในการจับกุมผู้ต้องหาอาชญากรรมข้ามชาติ และผู้ต้องหาคดีสำคัญของกองปราบ การส่งและรับผู้ร้ายข้ามแดน เป็นทีมที่เข้าทำการจับกุมผู้ต้องหาคดีชิงทองที่ลพบุรี และมีส่วนสำคัญในเหตุกราดยิงที่โคราช