ดร.สามารถชี้อะไรจะเกิดขึ้น? ถ้ารัฐไม่อุ้มการบินไทย
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยานได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte
ระบุว่า
ระบุว่า
อะไรจะเกิดขึ้น? ถ้ารัฐไม่อุ้มการบินไทย
มีการจับตารอคอยมติการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (12 พฤษภาคม 2563) ว่าจะเห็นชอบให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ระยะสั้นให้การบินไทยหรือไม่ แต่สุดท้ายปรากฏว่าไม่มีการเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ ครม.
แว่วมาว่า ฝ่ายหนึ่งต้องการเสนอให้ ครม.พิจารณาเฉพาะแนวทางการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังจากเดิม 51.03% เหลือไม่เกิน 50% เท่านั้น อีกฝ่ายหนึ่งต้องการผลักดันให้เสนอทุกแนวทาง นอกเหนือการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ แนวทางอื่นประกอบด้วย (1) ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ระยะสั้นจำนวนประมาณ 54,700 ล้านบาท ที่การบินไทยต้องการ (2) ให้การบินไทยเพิ่มทุนประมาณ 83,400 ล้านบาท (3) ให้แปลงหน่วยธุรกิจ (Business Unit) เป็นบริษัท (4) ให้เปลี่ยนวิธีการจำหน่ายตั๋ว และ (5) ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ปรับเปลี่ยนเส้นทางการบิน ลดจำนวนพนักงานฯลฯ ตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้ความเห็นชอบ เมื่อความเห็นยังไม่ตรงกัน จึงไม่มีการนำเรื่องการบินไทยเข้าสู่การพิจารณา
หากในที่สุด ไม่มีการพิจารณาให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย การบินไทยก็จะขาดสภาพคล่อง อะไรจะเกิดขึ้นกับการบินไทยหลังจากนี้จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง
ผมคาดว่าการบินไทยจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากมีข้อดีต่อการบินไทย ดังนี้
1. สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
2. พักชำระหนี้ได้ เพราะเจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับให้การบินไทยชำระหนี้ในช่วงเวลาฟื้นฟูกิจการได้ การบินไทยจึงมีเวลาที่จะฟื้นฟูกิจการได้ เช่น ลดฝูงบิน ปรับเปลี่ยนเส้นทาง ปรับเปลี่ยนวิธีจำหน่ายตั๋ว ลดจำนวนพนักงาน ลดเงินเดือนและสวัสดิการ เป็นต้น
3. เจรจาให้เจ้าหนี้ลดหนี้ลง ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ และแปลงหนี้เป็นทุนได้
แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการก็มีข้อเสียต่อการบินไทย และภาพรวมของประเทศ ดังนี้
1. ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการนาน
2. สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ซื้อหุ้นกู้จากการบินไทยอาจขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่ได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนจากการบินไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
3. อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดตราสารหนี้ (หมายถึงพันธบัตรที่หน่วยงานของรัฐขาย หรือหุ้นกู้ที่บริษัทเอกชนขาย)
ถ้าการฟื้นฟูกิจการไม่ประสบผลสำเร็จ ศาลฯ อาจมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ และเจ้าหนี้ของการบินไทยอาจร้องขอให้ศาลฯ มีคำสั่งให้การบินไทยล้มละลายก็ได้ โดยศาลฯ จะตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มาจัดการชำระบัญชี รวบรวมทรัพย์สินทั้งหมด แล้วนำมาเฉลี่ยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทุกคน ซึ่งในความเป็นจริงเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้คืนน้อยกว่าจำนวนหนี้จริงเป็นอย่างมาก แต่วิธีนี้ก็ถือเป็นวิธีการสุดท้ายที่กฎหมายจะสามารถบังคับเอากับการบินไทยได้
จึงต้องติดตามกันอย่างไม่กะพริบตาว่า ครม.จะเคาะให้ “อุ้มหรือไม่อุ้มการบินไทย” ในเร็วๆ นี้
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น