นักวิชาการ ไขข้อสงสัย CPTPP ใครได้-ใครเสีย


นักวิชาการ ไขข้อสงสัย CPTPP ใครได้-ใครเสีย

จากกรณีที่ แหม่มโพธิ์ดำ ได้ออกมาพูดถึงประเด็นของ CPTPP ที่ชาวเน็ตพยายามผละกดันและพูโถึงตลอด เพื่อไม่เรื่องนี้เงียบ อยากให้เรื่องนี้ส่งไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการตัดสิน โดยทางเพจก็สรุปออกมาเป็น 4 ข้อดังนี้ว่า

1. ถ้าเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์พืชจากผลผลิตที่ตนเองปลูก (ตอนปลูก เมล็ดซื้อมา) ผิดกฏหมายไหม
2. พันธุ์พืชที่เคยปลูกกันมาแต่โบราณ แต่ไม่ได้จดลิขสิทธิ์ ถ้าต่างชาตินำไปวิจัย และจดลิขสิทธิ์ เกษตรกรไทยยังสามารถปลูกได้ไหม ละเมิดลิขสิทธิ์หรือเปล่า
3. ถ้าเข้าร่วม CPTPP แล้ว ผลประโยชน์จะไปตกกับนายทุนเป็นส่วนมากจริงไหม แบบนี้จะทำให้ ยา อาหาร และอื่นๆแพงขึ้นหรือไม่
4. จงบอกข้อดี ข้อเสีย ของการเข้าร่วม CPTPP ต่อเกษตรกรและชาวบ้านทั่วไป



และล่าสุด รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ออกมาไขคำตอบในแต่ละข้อ โดยมีรายละเอียดดังนี้

" ตอบข้อสงสัย แหม่มโพธิ์ดำ เรื่อง CPTPP
รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผมได้ติดตามอ่านเพจแหม่มโพธิ์ดำและได้เห็นว่าทางเพจได้รวบรวมคำถามที่ชาวทวิตและชาวบ้านสงสัยมาถามสี่ข้อ ผมเห็นว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจมาก และโดยส่วนตัวในฐานะนักวิชาการ สิ่งที่ทำมาโดยตลอดก็คือ พยายามให้ทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่คัดค้าน CPTPP ได้นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายได้คิด วิเคราะห์ และร่วมกันหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทยในการแสวงหาโอกาสผ่านข้อตกลงทางการค้าฉบับต่างๆ โดยคำถามเพจแหม่มโพธิ์ดำไปรวบรวมมา มี 4 ข้อ โดยผมจะขออธิบายเท่าที่พอมีความรู้และได้แสวงหาข้อมูลมาจากทุกฝ่าย ดังนี้ครับ

นักวิชาการ ไขข้อสงสัย CPTPP ใครได้-ใครเสีย


คำถามที่ 1. ถ้าเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่มาจากผลผลิตที่ตนเองปลูก (ตอนปลูกเมล็ดซื้อมา) ผิดกฎหมายไหม

เรื่องนี้ต้องเริ่มจากการอธิบายให้เข้าใจก่อนครับว่า เมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรนำมาปลูกมีหลากหลายที่มามากๆ ตั้งแต่เก็บไว้เอง แลกเปลี่ยนในหมู่ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน หรือได้รับแจกมาจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะภาครัฐ เมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะเรียกว่า พันธุ์พืชพื้นเมือง และ/หรือ พันธุ์พืชป่า ซึ่งส่วนใหญ่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ หรือมีคนพัฒนาขึ้นมา อาจจะเกิดจากที่เกษตรกรรุ่นแล้วรุ่นเล่าพัฒนาต่อยอดกันมาเรื่อยๆ หรืออาจจะมาจากบริษัทเอกชนที่วางขายในท้องตลาด (เรียกพันธุ์การค้า) หรือเกษตรกรอาจจะได้รับแจกมาจากหน่วยงานภาครัฐก็ได้ โดยเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะไม่ได้ถูกคุ้มครองโดย UPOV1991 (อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่) ดังนั้นเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ ซึ่งคือเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ที่เกษตรกรไทยใช้กันอยู่ จะเก็บไว้ปลูกปีหน้า จะเอาไปขายเป็นเมล็ด เป็นต้นกล้า จะแจก จะทำอะไรก็ได้ ไม่ผิดกฎหมายอะไรแต่อย่างใด

อย่างที่ชื่อบอกเอาไว้ UPOV1991 หรือ อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ดังนั้นมันจะคุ้มครองให้สิทธิกับนักพัฒนาพันธุ์พืชเฉพาะพืชใหม่เท่านั้น เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ที่ซองจะเขียนไว้ว่า PVP ย่อมาจาก Protected Varity Plant ซึ่งก็แล้วแต่ว่าบริษัทหรือนักพัฒนาพันธุ์ใหม่เหล่านั้นเขาจะให้สิทธิ์ผู้ซื้อเมล็ดพันธุ์ไปทำอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะ อนุญาตให้ปลูก อนุญาตให้ขายผลผลิต ขายต้นกล้า แต่ส่วนที่สามารถนำไปขยายพันธุ์ได้ นั่นคือ เมล็ด มักจะไม่อนุญาตให้เอาไปขาย หรือไม่ให้เก็บเอาเมล็ดจากลูก จากผล จากดอก ที่ออกมาในฤดูกาลที่แล้ว มาทำพันธุ์ แล้วมาขยายพันธุ์ปลูกต่อในฤดูกาลต่อๆ ไปได้ แน่นอนเพราะเขาต้องการขายของ ของที่เขาลงทุนพัฒนาขึ้นมา ซึ่งต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาพัฒนาอะไรขึ้นมาและพัฒนาขึ้นมาอย่างไร (เดี๋ยวไว้ขยายต่อในคำถามข้อที่ 2)

ดังนั้นเพื่อตอบคำถามข้อนี้ก็ต้องดูว่า แล้วส่วนใหญ่ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนของเราใช้เมล็ดพันธุ์แบบไหนเป็นหลัก ถ้าใช้แบบข้อแรก ก็สามารถเก็บ แจก ขาย ปลูก จะกี่รอบต่อกี่รอบก็ได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าส่วนใหญ่พี่น้องเกษตรกรใช้วิธีการนี้ ก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไรมากนัก แต่ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์แบบที่ซื้อมาและเป็น PVP ส่วนใหญ่ จะเก็บเมล็ดจากลูกที่ออกมาไว้ปลูกได้เฉพาะในครัวเรือน เอาไปขายทำมาหากินไม่ได้


นักวิชาการ ไขข้อสงสัย CPTPP ใครได้-ใครเสีย


คำถามที่ 2. พันธุ์พืชที่เคยปลูกกันมาแต่โบราณ แต่ไม่ได้จดลิขสิทธิ์ ถ้าต่างชาตินำไปวิจัย และจดลิขสิทธิ์ เกษตรกรไทยยังสามารถปลูกได้ไหม ละเมิดลิขสิทธิ์หรือเปล่า

พืชจะเป็น "พันธุ์พืชใหม่" และได้รับการคุ้มครองตาม UPOV1991 ได้ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1) คนที่พัฒนาพันธุ์พืชต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ว่า เขาได้พัฒนา ได้ต่อยอด ได้ปรับปรุง พันธุ์ใหม่ขึ้นมาจากเดิมอย่างไร และมันแตกต่างจากพันธุ์เดิมอย่างมีนัยสำคัญ (คือถ้ามันไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ จะมาตู่เอาว่าเป็นพันธุ์ใหม่ก็ไม่ได้) เพราะฉะนั้น จะมีนักวิทยาศาสตร์ หรือบริษัทเอกชนหัวใสเดินเข้าไปในป่า ในไร่ ในสวน ในนา แล้วเอาพืชที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า ไปจดทะเบียน บอกเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของจนไม่ได้ 2) พันธุ์พืชใหม่ที่จะได้รับการคุ้มครอง และเขาจะได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ต้องมีคุณสมบัติแตกต่างจากพันธุ์อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ต้องมีลักษณะประจำพันธุ์ (คือที่อ้างว่า พันธุ์ใหม่มันดีขึ้น เช่น ผลใหญ่ขึ้น หวานขึ้น มีสารอาหารมากขึ้น ฯลฯ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามันดีจริง) และต้องมีความสม่ำเสมอและคงตัวของลักษณะประจำพันธุ์ (นั่นคือ ปลูกหลายๆ เมล็ดแล้วต้องให้ต้น ให้ผลมีลักษณะคุณสมบัติเดียวกัน ปลูกในรุ่นลูก รุ่นหลานก็ยังต้องมีคุณสมบัตินั้นๆ ไม่เปลี่ยน) 3) พันธุ์พืชนั้นต้องยังไม่ขายเกินกว่า 1 ปี ในประเทศ และ 4 ปี หรือ 6 ปี (สาหรับไม้ยืนต้นและไม้เถายืนต้น) ในต่างประเทศ

ดังนั้น ถ้ามีนาย A ไปเอาพันธุ์ข้าวหอมมะลิดั้งเดิมมา แล้วพัฒนาจนพิสูจน์คุณสมบัติพิเศษตามที่เขากล่าวอ้างได้ นาย A อาจจะตั้งชื่อข้าวพันธุ์นี้ว่า ข้าวหอมนาย A นาย A ก็จะได้รับการคุ้มครองจาก UPOV1991 เฉพาะข้าวหอมนาย A เท่านั้น ข้าวหอมมะลิพันธุ์ดั้งเดิมก็ยังคงเป็นพันธุ์ดั้งเดิม ที่เกษตรกรจะปลูก จะเก็บข้าวไว้ทำพันธุ์ จะแจก จะแลกพันธุ์ข้าวได้ตามปกติ เหมือนที่เคยทำ และแน่นอนถ้านาย B แลกพันธุ์ข้าว ทดลองปลูก และได้พันธุ์ใหม่ขึ้นมาที่เหมือนอย่างที่บอก คือ มีหลักฐานการพัฒนา แตกต่างจากเดิม มีคุณสมบัติหรือลักษณะประจำพันธุ์ใหม่ที่สม่ำเสมอและคงตัว นาย B ก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของ ข้าวหอมนาย B ได้เช่นกัน โดยที่ข้าวหอมนาย A และข้าวหอมมะลิพันธุ์ดั้งเดิมก็ยังคงมีอยู่ต่อไป ทีนี้ก็อยู่ที่ชาวนาละว่าจะใช้ของใคร เมล็ดพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งแน่นอนว่า มีสิทธิทำได้ทุกอย่างเหมือนที่เคยทำมาตลอดหลายชั่วคน หรือจะใช้ของนาย A หรือจะใช้ของนาย B ซึ่งแน่นอนว่าจะได้สิทธิในการใช้ ในการขายแค่ไหนก็ขึ้นกับนาย A และนาย B ที่เขาเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา

นาย A กับ นาย B ที่พัฒนาพันธุ์พืช ก็เหมือน นักแต่งเพลง นักเขียน นักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ อีกหลายๆ นัก เขาลงทุน ลงแรง ลงสติปัญญา เขาก็ควรจะได้รับสิทธิในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของเขา เหมือนที่นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็คงไม่อยากให้ใครมา copy โปรแกรมของตน แล้วเอามาแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ แล้วปั๊มแผ่นออกมาขาย หรือแย่กว่านั้นคือ copy แล้วขายเลยอย่างแน่นอน

นักวิชาการ ไขข้อสงสัย CPTPP ใครได้-ใครเสีย


คำถามที่ 3. ถ้าเข้าร่วม CPTPP แล้ว ผลประโยชน์จะไปตกกับนายทุนเป็นส่วนมากจริงไหม แบบนี้จะทำให้ ยา อาหาร และอื่นๆ แพงขึ้นหรือไม่

ผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับนายทุนหรือไม่ ถ้าเรื่องเกษตร เรื่องเมล็ดพันธุ์ ก็ขึ้นกับว่า นาย A นาย B หรือผู้พัฒนาเมล็ดพันธุ์คือใคร ถ้าเป็นบัณฑิตที่พึ่งเรียนจบมาเป็นนักพัฒนาพันธุ์พืช ถ้าเป็นหน่วยงานราชการ ถ้าเป็นกลุ่มเกษตรกร ถ้าเป็นนักพัฒนาพันธุ์พืชสมัครเล่น หรืออาจจะออกมาจากห้องแล็บของมหาวิทยาลัย ถ้านาย A นาย B เป็นคนเหล่านี้ ผลประโยชน์ก็คงไม่ได้ตกอยู่กับนายทุนหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ถ้านาย A นาย B เป็นบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ เป็นบริษัทข้ามชาติ ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับบริษัท แต่ถ้าทุกคนทุกฝ่ายมักจะกล่าวอ้างอยู่เสมอๆ ว่า การพัฒนาสายพันธุ์เป็นภูมิปัญญาของเกษตรกรไทย เป็นมรดก เป็นวิถีชาวบ้าน สิ่งที่เราควรส่งเสริมก็คือ ให้ปราชญ์ชาวบ้านเหล่านั้น ให้ชุมนุมเกษตรกรเหล่านั้น ให้ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ เหล่านั้น ที่มีฐานองค์ความรู้อยู่แล้ว มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ได้มีโอกาสเป็น นาย A นาย B บ้างมิใช่หรือ ให้เขาได้มีรายได้จากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาบ้าง นอกเหนือจากรายได้จากการใช้แรงงานในไร่ ในนา ในสวน เราต้องส่งเสริมไม่ใช่แค่เกษตรกร แต่เราต้องให้โอกาสบัณฑิตที่จบใหม่จากมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรทั่วประเทศ ให้เขาได้ทำงานในสิ่งที่เขาเรียนมา และเมื่อเขามีผลงาน เขาต้องได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ใช่ให้เขาจบมาแล้วไม่มีงานพัฒนาพันธุ์พืชได้ทำ ต้องไปขายเมล็ดพันธุ์แทน เพียงเพราะเราคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเฉพาะกับ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ งานเขียน หนัง เพลง แต่เราเลือกที่จะไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กับคนที่พัฒนาพันธุ์พืชใหม่

ส่วนเรื่องยา เรื่องอาหาร อันนี้น่าจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากครับ และไม่น่าจะเกี่ยวกับเรื่อง UPOV 1991 แล้ว แต่สำหรับเรื่องยา อาจจะขอยกตัวบทของ CPTPP มาให้พิจารณาดังนี้ครับ

Chapter 18 Article 18.6 ของ CPTPP ระบุไว้ชัดเจนใน 18.6 (a) ว่า CPTPP จะ do not and should not prevent a Party from taking measures to protect public health. (CPTPP จะไม่กีดกันให้ประเทศพาคีใช้มาตรการต่างๆ ในการปกป้องระบบสาธารณสุขของประชาชน)

แล้วยังเขียนไว้อีกครั้งอย่างชัดเจนใน Chapter 29 Exceptions and general provisions ที่พูดถึงการยกเว้นไม่บังคับใช้ CPTPP เมื่อเป็นเรื่องการปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ all CPTPP parties that guarantee full rights to regulate in the public interest, including for a party's essential security interest and other public welfare reasons.

นักวิชาการ ไขข้อสงสัย CPTPP ใครได้-ใครเสีย


คำถามที่ 4. จงบอกข้อดี ข้อเสีย ของการเข้าร่วม CPTPP ต่อเกษตรกรและชาวบ้านทั่วไป

ทุกกรอบการเจรจาการค้า ทุกความตกลง มีทั้งคนที่ได้ประโยชน์ และคนที่เสียประโยชน์ครับ อยู่ที่เราอยู่ในฐานะบุคคลคนหนึ่งอยู่ในสถานะไหน ตัวอย่างเช่น

ถ้าเราเป็นผู้บริโภค การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ CPTPP จะทำให้เราเข้าถึงสินค้าราคาถูกลง (สินค้าจาก 11 ประเทศ CPTPP) เข้าถึงภาคบริการที่มีความหลากหลายมากขึ้น (อาจจะมีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์และอินเตอร์เนตเพิ่มขึ้น มีผู้ให้บริการทางการเงินเพิ่มขึ้น) และทั้งสินค้าและบริการนั้นๆ ก็จะมีคุณภาพดีขึ้นด้วย แต่ถ้าเราเป็นผู้ผลิต แน่นอน นี่หมายถึงคู่แข่งทางการค้าของเราก็เพิ่มขึ้น โดยคู่แข่งเหล่านี้เป็นบริษัทจากต่างประเทศอีกต่างหาก คำถามคือ ในแต่ละประเทศ เรามีประชากรทุกคนเป็นผู้บริโภคและในขณะเดียวกับประชากรของเราทุกคนก็ผลิตด้วย ด้านการผลิตแน่นอนว่าไม่ใช่เราเปิดตลาดให้เขาฝ่ายเดียว ต่างประเทศก็ต้องเปิดตลาดให้เราด้วย ดังนั้นเราต้องชั่งน้ำหนักเรื่องนี้ให้ดี

เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ถ้าเข้า CPTPP หรือกรอบข้อตกลงการค้าอื่นๆ ที่มีประเด็นนี้ นั่นหมายความว่า ต่อไปรัฐบาลไทยจะซื้อสินค้าและบริการใดๆ ก็ต้องอนุญาตให้บริษัทจากต่างประเทศเข้ามาประมูลงานแข่งกับผู้ประกอบการไทยได้ แน่นอนถ้าเราเป็นญาติสนิทของ อบต อบจ. ที่เคยรับงานในพื้นที่เป็นประจำ เที่ยวนี้จะมีบริษัทต่างชาติที่เทคโนโลยีดีกว่า คุณภาพก็น่าจะดีกว่า ราคา เผลอๆ อาจจะถูกกว่า มาแข่งประมูลงานที่ญาติเราตั้งโครงการขึ้นมา เราย่อมเสียประโยชน์ แต่ถามว่าแล้วคนในอำเภอนั้น ในจังหวัดนั้น เขาได้ประโยชน์หรือไม่

CPTPP จะทำให้ แรงงานต่างด้าวในประเทศไทยสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ แน่นอนถ้าเราเป็นนายจ้าง เราคงไม่ชอบเพราะทำให้อำนาจต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเปลี่ยนไป แต่ถ้าเราเป็นลูกจ้าง เราน่าจะชอบ เพราะเราจะมีพันธมิตรใหม่ในการเจรจากับนายจ้างเพิ่มขึ้นCPTPP ยังมีอีกหลายประเด็นมาก จากข้อตกลง 30 ข้อบท ซึ่งมีเอกสารมากกว่า 7 พันหน้า แต่ในระดับเบื้องต้นขอตอบคำถาม 4 ข้อที่คุณแหม่มโพธิ์ดำไปรวบรวมมาเท่านี้ก่อนครับ

ก่อนจบ ในฐานะนักวิชาการ ผมขอเรียกร้องให้ทุกๆ ฝ่ายทั้งสนับสนุน และคัดค้านนำเสนอความจริงทั้งหมด ครบถ้วน ให้คนไทยได้ตัดสินใจ บนข้อมูลข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนครับ พวกเราที่เสพสื่อ ก็ต้องหาความจริงให้ครบทุกด้านก่อนจะเรียกร้อง #NoCPTPP หรือ #YesCPTPP ที่สำคัญต้องไม่ bully คนที่เห็นต่างด้วยครับ

นักวิชาการ ไขข้อสงสัย CPTPP ใครได้-ใครเสีย

เครดิตแหล่งข้อมูล : Piti Srisangnam


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
คุณ : u1442694063
สถานะ : บุคคลทั่วไป
IP : 103.58.148.23

103.58.148.23,,host23.148.thvps.com ความคิดเห็นที่ 1 [อ้างอิง]
ขอขอบคุณสำหรับข้อมูล


[ วันเสาร์ ที่ 18 มีนาคม 2566 เวลา 01:47 น. ]
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์