หมอเตือนฝีดาษลิงไม่ตายแต่เสียโฉมได้ คนไทยต่ำกว่า42ปีไม่มีภูมิคุ้มกัน
ถ้าไม่สบาย กักตัว แยกตัวเพราะอาจติดเชื้อที่แพร่ไปหาคนอื่นได้ไม่ว่าจะเป็นโควิดเดิม ไข้หวัดใหญ่และฝีดาษลิง และอื่นๆ ยังดีที่ฝีดาษลิงจะปล่อยเชื้อ ตอนที่เริ่มมีอาการแล้วคือ ไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย ปวดตัว ผื่นอาจจะมาตามหลังและอาจปรากฏในที่ลับ ไม่รู้ตัว
ดังนั้นไม่สบายอย่าเอาตัวเข้าไปหาคนอื่น ใส่หน้ากาก อย่าปล่อยเชื้อ วินัยแบบโควิดเป๋ะ
"ช่วงเวลาที่จะให้เปิดหน้ากาก ..ฝีดาษลิงกำลังมา แม่ไม่ตาย เสียโฉมได้"
1) อายุของคน
เป็นที่ทราบกันดีว่า ฝีดาษหายไปจากทวีปเอเชียในปี 2518 โดยประเทศสุดท้ายที่พบคือ บังกลาเทศ ตามมาด้วยการสูญพันธุ์ของฝีดาษในทวีปแอฟริกาเมื่อปี 2520 โดยโซมาเลียเป็นประเทศสุดท้าย และองค์การอนามัยโลกได้ประกาศถือว่าฝีดาษหมดไปจากโลกมนุษย์ในปี 2523 ( 8 พฤษภาคม 2523 )
ส่วนของไทยนั้น ฝีดาษหมดไปจากประเทศก่อนที่ประเทศสุดท้ายในทวีปเอเชียจะหมดในปี 2518 ไทยจึงเริ่มยุติการปลูกฝีป้องกันฝีดาษตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา และทั่วโลกได้ยุติการปลูกฝีป้องกันฝีดาษตั้งแต่ปี 2523
ดังนั้นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 42 ปี หรือเกิดหลังปี 2523 จะถือว่าไม่เคยหรือไม่มีโอกาสได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ ส่วนผู้ที่อายุ 48 ปีขึ้นไป หรือเกิดก่อนปี 2517 มีโอกาสที่จะได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษสูงมาก และผู้ที่อายุอยู่ในช่วงดังกล่าวคือ เกิดปี 2517-2523 มีโอกาสจะได้รับการปลูกฝี แต่ค่อนข้างน้อย
2) แผลเป็นจากการปลูกฝี
แผลเป็นที่ปรากฏจากการปลูกฝี ป้องกันโรค หรือให้วัคซีน มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
2.1 ปลูกฝีป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ จะเป็นแผลเป็นแบนเรียบ
2.2 ปลูกฝีป้องกันวัณโรค จะเป็นแผลเป็นที่เป็นแบบนูน
กล่าวโดยสรุป
1) ผู้ที่มีอายุมากกว่า 48 ปีขึ้นไป เกิดก่อนปีพ.ศ. 2517 มีโอกาสที่จะได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษค่อนข้างมาก
2) ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 42 ปีลงมา เกิดหลังปี 2523 ถือว่าไม่มีโอกาสได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ
3) ผู้อายุ 42-48 ปี เกิดระหว่างพ.ศ. 2517-2523 ถือว่ามีโอกาสจะได้รับการปลูกฝีอยู่บ้าง แต่โอกาสนั้นค่อนข้างน้อย
4) แผลเป็นจากการปลูกฝีมี 2 ชนิดคือ แผลเป็นจากการปลูกฝีป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษ และแผลเป็นจากการปลูกฝีป้องกันวัณโรค
5) แผลเป็นจากการปลูกฝีป้องกันฝีดาษคน จะเป็นแผลเป็นที่แบนเรียบหรือเป็นหลุมลงไปเล็กน้อย ไม่นูน
6) แผลเป็นที่เกิดจากการปลูกฝีป้องกันวัณโรค จะเป็นแผลเป็นที่นูน