ผศ.ดร.ไชยณรงค์ อธิบายวิถีคนดอย ชี้สิ่งสำคัญ 2 อย่างของชาวบ้าน
ในขณะที่ทางด้าน "ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ" อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักวิชาการที่คลุกคลี และช่วยเหลือปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจากรัฐ และทุน ได้เผยว่า
ถ้าถามเด็กบนดอยว่ารู้จักไข่เจียวมั้ย แน่นอนว่าเขาจะตอบว่าไม่รู้จัก ถามว่าอยากกินมั้ย ถามแบบนี้ก็อยากกินแหละครับ แต่จะรู้มั้ยว่าไข่เจียวนั้น เด็กบนดอยเขาเรียกทอดไข่
บนดอยมีไก่เกือบทุกบ้านครับ เพราะยังไงก็ต้องเลี้ยงไก่ อย่างน้อยก็ต้องเอาไว้ไหว้ผี (สิ่งเหนือธรรมชาติ-super nature) ที่มีเต็มไปหมด ทั้งผีฝาย ผีขุนน้ำ ผีไฟ ฯลฯ เมื่อมีไก่ก็ต้องมีไข่แหละครับ เพียงแต่จะทำอะไรกินและเรียกว่าอะไร ต้มก็ได้ ทอดไข่ก็ได้ แต่ไม่ได้เรียกว่าไข่เจียวแบบคนไทยเท่านั้นเอง ไม่ใช่แค่ไข่ครับ หมูก็มี วัวก็มี และก็มีโอกาสพิเศษที่ได้กินอาหารเหล่านี้ เช่น เมื่อมีพิธีกรรมต่างๆ
ถ้าถามว่าทำไมของกินในครัวมีแต่พริกกับเกลือ พริกกับเกลือสำคัญมากครับ ขาดไม่ได้ เข้าป่าขึ้นดอยก็ต้องเอาพริกกับเกลือไปด้วย สำหรับเด็กๆ แล้วเกลือนี่ของอร่อยเลยครับ ในโอกาสพิเศษ ถ้ามีเกลือเยอะ เด็กๆ ก็ได้เกลือมากัดกินเล่นกัน (เลิศกว่าขนมถุงมากครับ)
ถ้าไปถามเด็กบนดอยว่าปลูกผักเป็นไหม ก็ขึ้นกับว่าหมู่บ้านนั้นผลิตพืชผักเป็นพืชเศรษฐกิจตามเกษตรแผนใหม่หรือไม่ ถ้าปลูก เด็กเขาก็ปลูกเป็นเพราะต้องข่วยพ่อแม่ ถ้าไม่ปลูก ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีผักกิน ผมเคยไปหมู่บ้านบนดอยที่ไม่ได้ปลูกพืชผักแบบสวนผักหรือโรงเรือน แต่เขาทำไร่หมุนเวียน ในไร่หมุนเวียนมีผัก 40-50 ชนิด เอาไว้ประกอบอาหารและแลกเปลี่ยนกับสินค้าอย่างอื่น ขายก็ได้
ถ้าใครไม่รู้จักไร่หมุนเวียน ก็อย่าไปชี้นิ้วว่าวันๆ เอาแต่ถางหญ้า ถางเขา แบบทำลายป่าครับ บอกเลยครับว่ารัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ตามการเสนอของกระทรวงวัฒนธรรมรับรองให้ไร่หมุนเวียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมเลยนะครับ และต้องการฟื้นฟูวิถีชีวิตแบบนี้ด้วยครับ
ดังนั้น ไม่ต้องคิดที่จะไปสอนเขาปลูกผักสลัดหรอกครับ แต่ให้เข้าใจว่าความรู้ในการทำเกษตรของเขาลึกซึ้งกว่าเรามาก และเราควรเรียนรู้จากเขามากกว่า
ถามว่าคนบนดอยอยากมีไฟฟ้าไหม ส่วนใหญ่ก็อยากมีแหละครับ แต่ที่ไม่อยากมี มันก็เคยมีจริงๆ ผมเคยพบ เพราะเขาตกลงกันทั้งหมู่บ้านหรือป๊อกบ้านว่าถ้าไฟฟ้าเข้าจะทำให้เป็นหนี้เยอะ ปัจจุบันหมู่บ้านที่คิดแบบนี้ก็เปลี่ยนใจเป็นยอมให้ไฟฟ้าเข้า แต่ก็ใช้กันเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ต้องเสียค่าไฟมาก และวิถีชีวิตยังแตกต่างกับคนในเมือง ค่ำมาก็ต้องนอน เพราะเช้ามาก็ต้องทำการผลิตทางเศรษฐกิจ จะหุงข้าว ทำอาหาร ก็มีเชื้อเพลิงอย่างอื่นที่ได้มาฟรีๆ
ถ้าจะให้คนบนดอยมีไฟฟ้าใช้ ก็ต้องไปบอกให้หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเรื่องโซลาร์เซลล์ช่วยไปซ่อมโซลาร์เซลล์ให้ใช้ได้ครับ ไม่ใช่ปล่อยทิ้งร้างเพราะมันคือภาษีของพวกเราด้วย และช่วยเรียกร้องให้รัฐยกเลิกเงื่อนไขที่จำกัดการพัฒนาหมู่บ้านที่ถูกเขตอนุรักษ์ทับชุมชนรวมถึงจำกัดสิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรในป่า
ถ้าถามว่าเด็กบนดอยมีความฝันไหม ผมว่าทุกคนมีความฝันแหละครับ แต่เราเข้าถึงความฝันเขาได้หรือไม่? เพราะโลกทรรศน์ของคนบนพื้นที่สูงแตกต่างไปจากโลกทรรศน์ของเราอย่างสิ้นเชิง
ถ้าถามว่าเด็กๆ บนดอยขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษามั้ย แน่นอนครับว่าขาด แต่คนทำงานกลุ่มชาติพันธุ์ที่สนใจด้านการศึกษาเขาชี้มานานแล้วว่าที่เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะครูมักไม่มาสอน ครูเองไม่ได้เงินเดือน เมื่อย้ายไปเรียนที่โรงเรียนที่อยู่ด้านล่าง เด็กก็เริ่มไม่กล้าพูดกับคนอื่นเพราะห่างจากการใช้ภาษาพ่อภาษาแม่ออกไปทุกที การศึกษาของรัฐขั้นพื้นฐานจึงไม่ตอบสนองต่อพวกเขา และทีวีก็ไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้เขารู้โลกกว้าง เอาเข้าจริงรายการทีวีนี่โค-ตระ ไร้สาระเลยครับ
ผมไม่ติดใจการช่วยของใครก็แล้วที่มีแต่ต่อพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์บนดอย แต่อย่าเอาทัศนะของคนนอกไปตัดสิน ก่อนทำอะไรควรเรียนรู้ทัศนะของคนในก่อน และที่สำคัญอย่าผลิตซ้ำการเหยียดบนทัศนะของการแบ่งพวกเขา-พวกเรา โดยจัดให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นชาวเขาที่ห่างไกลจากคนกรุงที่ถือว่าตัวเองมีอารยะทั้งในเชิงพื้นที่ (เช่น หมู่บ้านอยู่ไกลโพ้น ก่อนถึงหมู่บ้านเดินทางยากลำบาก เส้นทางแสนกันดาร มีฝุ่นคลุ้ง) และเชิงเวลา (ด้อยการพัฒนา ไข่เจียวก็ไม่เคยกิน ผักสลัดก็ปลูกไม่เป็น วันๆ เอาแต่ถางหญ้า ถางเขา)
การแบ่งคนเป็นขั้นโดยจัดให้คนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเป็นชาวป่า-ชาวเขา ที่มีนัยะไร้อารยะและต้องการทำให้เขามีอารยะมีมาตั้งแต่พระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่าแล้วครับ อยากรู้ละเอียดก็ต้องอ่านบทความเรื่องความเป็นอื่นในชาติเดียวกันของอาจารย์ธงชัย วินิจกุล นะครับ แล้วเราจะเข้าใจความหมายของคำว่า ชาวป่า/ชาวเขา (ไม่ใช่ไทย ไม่มีอารยะ) -ชาวบ้านนอก (ใกล้เคียงกับไทย)-คนกรุง (มีความเป็นไทย มีอารยะ)-ชาวตะวันตก (มีความศิวิไลซ์ เหนือกว่าไทย) ว่าเป็นอย่างไร....