จากกรณีร้อนระอุที่ วิศวกรอายุ 50 ปี ใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มวัยรุ่น จนเป็นเหตุให้นักเรียนชั้น ม.4 ถูกยิงเข้าที่บริเวณใต้ราวนมซ้ายเสียชีวิต ซึ่งภายหลังในโลกโซเชียลได้มีการถกเถียงกันถึงประเด็นการใช้สิทธิ ยิงป้องกันตัว ว่าทำได้ในสถานการณ์แบบใดบ้าง มีความผิดหรือไม่มีความผิด?
ล่าสุด มาฟังอีก 1 คำอิบาย จากนักกฎหมายผู้รอบรู้และมีชื่อเสียง ที่เขียนไว้อย่างละเอียดยิบทีเดียว
เฟซบุ๊กเพจชื่อ ฐิติมา แซ่เตีย เพจที่มีผู้กดไลค์ติดตาม 2หมื่นกว่าคน ได้โพสต์ข้อความอธิบายเกี่ยวกับกฎหมายป้องกันตัวโดยชอบ ซึ่งเทียบเคียงกับกหัวข้อเรื่องเด่นประเด็นฮ็อตบนโลกออนไลน์ วิศวกรยิงวัยรุ่นดับ ดังกล่าว พร้อมระบุว่าข้อมูลที่เผยแพร่เขียนโดยพี่ชาย
คือ อัยการวีรชน อังคุระษี
โดยที่รายละเอียดประเด็นการกระทำของวิศวกร ยิงป้องกันตัว อัยการท่านนี้ได้อธิบายเป็นลำดับขั้นตอน ประกอบเหตุผลเป็นข้อๆ ดังนี้...
ถูกคนรุมทำร้ายนับสิบ ยิงป้องกันตัว ได้มั้ย ?
กรณีที่ทนายท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์โดยให้ความเห็นในทำนองว่า หากเราถูกคนรุมทำร้ายนับสิบ โดยที่คนเหล่านั้นไม่มีอาวุธใดๆ แต่เรามีปืน เราควรที่จะยิงลงพื้นเพื่อขู่ก่อน หากยังไม่หยุดค่อยยิงที่แขนขา ห้ามเล็งที่ตัวเพราะถือว่าเกินกว่าเหตุนั้น
ในฐานะที่ผมเองก็เป็นนักกฎหมายคนหนึ่ง และมีประสบการณ์ในการดำเนินคดีลักษณะทำนองนี้มาพอสมควร ขอให้ความเห็นในกรณีนี้เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนบ้าง ดังนี้
ผมเห็นว่า สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาก่อนเลย คือ เรามีเวลาเพียงพอที่จะยิงลงพื้นเพื่อขู่แล้วดูปฏิกิริยาของกลุ่มคนที่จะเข้ามาทำร้ายหรือไม่ หากเป็นการเข้ารุมทำร้ายในระยะประชิดไม่ทันตั้งตัว ย่อมไม่มีเวลาที่จะยิงเพื่อขู่ก่อน และอาจจะไม่มีเวลาเพียงพอที่จะเล็งยิงเฉพาะแขนขาได้ ลองนึกภาพดูก็ได้ว่า หากเรามัวแต่ยิงลงพื้น หรือเล็งจะยิงเฉพาะแขนขาของคนใดคนหนึ่ง แล้วเราจะป้องกันไม่ให้คนที่เหลืออีกเก้าคนทำร้ายเราได้อย่างไร เราอาจจะถูกคนที่เหลือทำร้ายและแย่งปืนไป แล้วเอามายิงเราเสียเอง หรืออาจถูกรุมทำร้ายด้วยการชกต่อย เตะ กระทืบ หรือบีบคอจนตายก็ได้
ดังนั้น หากเราถูกรุมทำร้ายในระยะประชิดไม่ทันตั้งตัว และเรายิงออกไปเพื่อป้องกันตัวโดยไม่มีโอกาสที่จะเลือกเล็งยิงที่บริเวณใดหรือส่วนใดของร่างกายได้ แม้กระสุนจะถูกผู้ใดตาย ก็ย่อมเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย
แต่หากไม่ใช่การที่จะเข้ามารุมทำร้ายในระยะประชิด เราอาจมีเวลาเพียงพอที่จะยิงเพื่อขู่ก่อน หรือเล็งยิงเฉพาะแขนขาได้เท่าที่จำเป็น ซึ่งหากเป็นกรณีเช่นนี้ก็ควรจะดำเนินการดังกล่าว มิเช่นนั้น หากเราเล็งยิงไปที่ตัวหรืออวัยวะสำคัญของร่างกายคู่กรณีในทันที อันส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาฆ่า ก็อาจจะเป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ โดยเราอาจมีความผิดฐานฆ่าหรือพยายามฆ่าผู้อื่นได้ (หากผู้ถูกยิงไม่ตายหรือยิงไม่โดน) แล้วแต่กรณี
สำหรับอีกประเด็นหนึ่งที่ทนายท่านนี้ให้ความเห็นว่า คดีทำร้ายร่างกายมักจะติดคุกจริงมากกว่ารอการลงโทษนั้น
จากประสบการณ์ของผมพบว่า การที่ศาลจะพิพากษาลงโทษสถานใดและเพียงใดนั้น ศาลจะพิจารณาถึงความหนักเบาแห่งข้อหา พฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด ผลจากการกระทำความผิด (ดูจากความรุนแรงของบาดแผล) ความสำนึกผิดของจำเลย (เช่น จำเลยรับสารภาพด้วยความสำนึกผิดโดยมิใช่จำนนต่อพยานหลักฐาน) การชดใช้ค่าเสียหายหรือบรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ประวัติการกระทำความผิดของจำเลย
มิใช่ว่าจะต้องลงโทษจำคุกจริงหรือจะต้องรอการลงโทษเสมอไป ต้องดูข้อเท็จจริงอื่นๆ ดังกล่าวประกอบด้วย หากเป็นเพียงข้อหาทำร้ายร่างกาย หรือทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ที่ลักษณะบาดแผลไม่รุนแรงมาก จำเลยรับสารภาพและชดใช้ค่าเสียหายตามสมควรให้แก่ผู้เสียหาย ทั้งจำเลยไม่มีประวัติการกระทำความผิดมาก่อน ศาลมักจะพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสามปี โดยโทษจำคุกศาลมักจะให้รอการลงโทษไว้โดยมีกำหนดเวลา (คือไม่ติดคุกจริงนั่นเอง)
หากจำเลยให้การปฏิเสธ แล้วต่อสู้คดีไป เมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องจริง ศาลมักจะพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ
อาจมีบางท่านสงสัยว่า การรอการลงโทษหมายถึงจำเลยจะไม่ติดคุกจริงเลยใช่หรือไม่?
ขออธิบายว่า สำหรับโทษที่ศาลรอการลงโทษไว้นั้น จะมีผลกับจำเลยในกรณีที่ หากจำเลยได้กระทำความผิดในระหว่างระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้ และในคดีหลังศาลจะลงโทษจำคุกจำเลยจริง (คือไม่รอการลงโทษอีก) ศาลต้องนำโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีก่อน มาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีหลังนี้ (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58) (สรุปคือ จำเลยจะต้องติดคุกทั้งในคดีก่อนและคดีหลัง)
แต่หากจำเลยมิได้กระทำความผิดใดภายในระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีก่อน โทษที่รอไว้นั้น ก็เป็นอันสิ้นผลไป
เพื่อให้ประชาชนเข้าใจข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโดยชอบมากขึ้น ขออธิบายพอสังเขป ดังนี้
หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด"
จากบทบัญญัติดังกล่าว การกระทำที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำการป้องกันดังกล่าวไม่มีความผิดเลย มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1. เป็นการกระทำต่อผู้ก่อภัย
2. เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย
3. ภยันตรายนั้น ต้องเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย หมายถึง ผู้ก่อภยันตรายไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้
4. ภยันตรายนั้น ต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง (มิใช่ภยันตรายยังอยู่ไกลหรือป้องกันล่วงหน้าหรือภยันตรายผ่านพ้นไปแล้ว)
5. ผู้กระทำการป้องกัน ต้องได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ กล่าวคือ
5.1 ต้องใช้วิถีทางน้อยที่สุด คือ ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว (ดูจากอาวุธที่ใช้ และอวัยวะที่กระทำต่อ) และ
5.2 การป้องกันได้สัดส่วนกับภยันตรายที่จะทำการป้องกัน เช่น เขาจะทำร้ายเราถึงชีวิต เรากระทำการป้องกันออกไปทำให้เขาตาย หรือบาดเจ็บ เช่นนี้ ถือว่าได้สัดส่วน เป็นการป้องกันโดยชอบ
แต่หากเขาเพียงจะชกหน้าเราเท่านั้น (โดยไม่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต) แต่เราใช้มีดแทงเขาตาย หรือใช้ปืนยิงเขาตาย เช่นนี้ ถือว่าไม่ได้สัดส่วน มิใช่การป้องกันโดยชอบ แต่อาจเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
ถ้าป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ผู้กระทำการป้องกันยังมีความผิด แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69
6. นอกจากนี้ จากหลายคดีที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้วางหลักเพิ่มเติมจากบทบัญญัติดังกล่าวอีกว่า ผู้กระทำการป้องกัน ต้องไม่มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดภยันตรายขึ้น (เช่น ไม่ได้ทำร้ายเขาก่อน ไม่ได้สมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้ หรือไม่ได้ท้าทายเขาก่อน เป็นต้น) หรือผู้กระทำการป้องกันมีส่วนผิดในตอนแรก แต่ภัยตอนแรกหรือการทะเลาะวิวาทตอนแรกขาดตอนไปแล้ว ก็สามารถกระทำการป้องกันตัวจากภัยที่เกิดขึ้นในภายหลังได้โดยชอบ (อ้างป้องกันได้)
เช่น เราสมัครใจทะเลาะวิวาทกับเขาในตอนแรก แต่ก็ได้แยกย้ายเลิกรากันไปแล้ว ต่อมาเขายังโกรธอยู่ จึงได้มาทำร้ายเราในภายหลัง แล้วเราป้องกันตัวโดยทำร้ายตอบโต้ไปพอสมควรแก่เหตุ เช่นนี้ ย่อมเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้เราจะเคยสมัครใจทะเลาะวิวาทกับเขาในตอนแรกก็ตาม (เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 5371/2542, 6106/2533)
จริงๆแล้ว เรื่องการป้องกันตัวโดยชอบนี้ มีเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องต้องนำมาพิจารณาอีกมาก เช่น การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น การกระทำโดยบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไปเป็นธรรม
ในตอนท้ายของรายละเอียดประเด็น ยิงป้องกันตัว ผู้โพสต์เองได้ระบุเพิ่มเติมว่า นี่เป็นเพียงการอธิบายเชิงสังเขป ซึ่งก็เพียงหวังว่าสิ่งที่ได้นำบอกกล่าวเล่าสู้กันฟังจะเป็นประโยชน์กับทั้งประชาชนทั่วไปและผู้เตรียมสอบสายกฎหมายบ้าง
ที่มาจาก ::: FB ฐิติมา แซ่เตีย